นายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กล่าวว่า สกุลเงินคริปโตไม่มีมูลค่าในตัวเอง และผู้ที่เข้าลงทุนก็ควรเตรียมตัวที่จะสูญเสียเงินทั้งหมด
"ผมขอพูดอย่างตรงไปตรงมาอีกครั้งหนึ่งว่า คุณจะซื้อมันได้ก็ต่อเมื่อคุณพร้อมที่จะสูญเสียเงินทั้งหมด" นายเบลีย์กล่าว
คำพูดของนายเบลีย์เป็นการสะท้อนคำเตือนก่อนหน้านี้จากสำนักงานกำกับตลาดการเงินอังกฤษ (FCA) ที่ระบุว่า ผู้ที่ลงทุนในสกุลเงินคริปโตมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียเงินทั้งหมด
"FCA มีความตระหนักว่า บริษัทบางแห่งกำลังเสนอการลงทุนในรูปสกุลเงินคริปโต หรือปล่อยกู้ หรือให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินคริปโตที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งถ้าผู้บริโภคเข้าลงทุนในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ก็ควรเตรียมตัวที่จะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด" FCA ระบุในเดือนม.ค.
นอกจากนี้ FCA ยังเตือนว่า นักลงทุนควรระวังหากได้รับการติดต่อ และกดดันให้เข้าลงทุนอย่างรวดเร็ว หรือมีการให้สัญญาที่ฟังดูดีเกินกว่าที่จะเป็นจริง
ทั้งนี้ บิตคอยน์ได้พุ่งขึ้นมากกว่า 90% ตั้งแต่ต้นปีนี้ และอาจจะซ้ำรอยเหตุการณ์ฟองสบู่ในปี 2560 ซึ่งบิตคอยน์พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในขณะนั้นใกล้แตะระดับ 20,000 ดอลลาร์ ก่อนที่จะดิ่งลงเหลือเพียง 3,122 ดอลลาร์เพียง 1 ปีต่อมา
ทางด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ก็ได้เคยกล่าวเตือนนักลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการถือครองบิตคอยน์ "ดิฉันไม่คิดว่าบิตคอยน์จะถูกใช้เป็นกลไกในการทำธุรกรรมในวงกว้าง และดิฉันวิตกเกี่ยวกับการที่บิตคอยน์มักถูกใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย"
นอกจากนี้ นางเยลเลนเสนอให้รัฐบาลพิจารณาออกกฎระเบียบในการควบคุมการใช้บิตคอยน์เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่ถูกใช้ในการฟอกเงิน
ส่วนนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เรียกร้องให้หน่วยงานทั่วโลกออกกฎระเบียบควบคุมบิตคอยน์ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่จะต้องอุดช่องโหว่จากการที่มีผู้ใช้บิตคอยน์ในการฟอกเงิน และทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย
เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางตุรกีออกคำสั่งห้ามการใช้สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งรวมถึงบิตคอยน์ ในการซื้อขายสินค้าและบริการในประเทศ โดยระบุถึงความเสียหายและความเสี่ยง "ที่ไม่สามารถเยียวยาได้" จากการทำธุรกรรมดังกล่าว
แถลงการณ์ของธนาคารกลางตุรกีระบุว่า "สกุลเงินคริปโตมีความเสี่ยง เนื่องจากไม่ได้ถูกควบคุมภายใต้กฎระเบียบใดๆ หรือกลไกตรวจสอบใดๆ รวมทั้งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารกลาง ดังนั้น ผู้ให้บริการชำระเงินจะไม่สามารถพัฒนารูปแบบธุรกิจที่จะทำให้มีการใช้สกุลเงินคริปโตทั้งทางตรงและทางอ้อมในการชำระค่าบริการ เนื่องจากการใช้สินทรัพย์ดังกล่าวในการชำระค่าบริการอาจสร้างความเสียหายที่ไม่สามารถเรียกคีนได้สำหรับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะบ่อนทำลายความเชื่อมั่นต่อวิธีการและเครื่องมือในการชำระเงินในปัจจุบัน"
นอกจากนี้ ทางการอินเดียเตรียมออกกฎหมายห้ามการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งรวมถึงบิตคอยน์ โดยจะมีการสั่งปรับผู้ที่ทำธุรกรรม หรือถือครองสกุลเงินคริปโต
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะถือเป็นกฎหมายเข้มงวดที่สุดในโลกเกี่ยวกับการควบคุมสกุลเงินดิจิทัล โดยผู้ที่ครอบครอง, ซื้อขาย, โอน รวมทั้งออกสกุลเงินดิจิทัล หรือขุดสกุลเงินดังกล่าว จะมีความผิดในคดีอาญา
นอกจากนี้ อินเดียจะเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งแรกของโลกที่ห้ามการถือครองสกุลเงินดิจิทัล โดยแม้แต่จีน ซึ่งห้ามการขุด หรือซื้อขายสกุลเงินดังกล่าว ก็ไม่ได้ห้ามการถือครองแต่อย่างใด