สำนักข่าวเกียวโดรายงานในวันนี้ว่า เมียนมากำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเงินสด รวมถึงราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร โดยประชาชนได้พากันถอนเงินออมออกจากธนาคารเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับอนาคต ขณะที่รัฐบาลทหารได้สั่งจำกัดปริมาณเงินหมุนเวียนเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อ
หลังการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาเพื่อขับไล่รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางอองซาน ซูจีนั้น รัฐบาลทหารได้เข้าปกครองเมียนมามาราว 4 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ายึดอำนาจทางการเมืองได้ ขณะที่เงินจ๊าตของเมียนมาได้อ่อนค่าลงอย่างมาก
ในย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของเมียนมานั้น สิ่งของที่ประชาชนต้องพกพาขณะเข้าแถวรอกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มนั้นได้แก่ เก้าอี้, น้ำดื่ม, อาหารเช้า, ของขบเคี้ยว และพัดลมแบบพกพา เนื่องจากมีประชาชนต่อแถวยาวเหยียดอยู่นอกธนาคารต่างๆ ทุกวันก่อนรุ่งเช้า โดยต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อครั้งในการถอนเงินสด
สถาบันการเงินของเมียนมาแทบหยุดชะงักในช่วงแรกๆ ของการปกครองโดยรัฐบาลทหาร เนื่องจากพนักงานธนาคารจำนวนมากปฏิเสธที่จะไปทำงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืนที่เพิ่มมากขึ้น
ในเวลาต่อมา สถาบันการเงินได้เริ่มกลับมาดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่รัฐบาลทหารยังคงจำกัดจำนวนการถอนเงินของประชาชน เพื่อป้องกันเงินไหลออกจากธนาคารต่างๆ
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมการเงินระบุว่า ประชาชนที่สามารถถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารก็ได้ทำการแปลงเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในตลาดมืด หรือเก็บเงินสดนั้นไว้ที่บ้านของพวกเขา
การขาดแคลนเงินสดได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจ โดยแหล่งข่าวในบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นร้องเรียนว่า บริษัทมีปัญหาในการจ่ายเงินให้กับคนงาน เนื่องจากขาดแคลนเงินสด
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ภาวะขาดแคลนเงินสดทำให้กองทัพไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้กับทหารตรงตามกำหนด และทำให้บางคนต้องเข้าปล้นสะดมประชาชน
แหล่งข่าวทางการทูตระบุว่า ในขณะที่รัฐบาลทหารสามารถสั่งให้ธนาคารกลางของเมียนมาพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อเพิ่มปริมาณเงินนั้น แต่ก็ลังเลที่จะดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากกรณีนี้เคยทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น และนำไปสู่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในวงกว้าง
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ปริมาณเงินของเมียนมาได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทแห่งหนึ่งของเยอรมนีซึ่งจัดหาวัสดุในการพิมพ์ธนบัตรให้กับรัฐบาลเมียนมานั้น ได้ยุติการทำธุรกิจกับเมียนมาหลังการก่อรัฐประหาร
ราคาน้ำมันเบนซินและเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ตลอดจนยารักษาโรคซึ่งล้วนต้องพึ่งพาการนำเข้า ต่างก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก
ฮิโรมาสะ มัตสึอุระ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทมิซูโฮ รีเสิร์ช แอนด์ เทคโนโลยีส์ จำกัดกล่าวว่า ราคาสินค้าในเมียนมาอาจเพิ่มขึ้นโดยรวมมากกว่า 10-15% เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากการหยุดชะงักของระบบโลจิสติกส์หลังการก่อรัฐประหาร
นอกจากนี้ สกุลเงินจ๊าตของเมียนมาได้อ่อนค่าลงแล้ว 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร
ส่วนกลุ่มที่ก่อตั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์ในภาครัฐและเอกชนของเมียนมาที่ต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหารได้ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจของเมียนมาได้ส่งสัญญาณของการเกิดภาวะเงินเฟ้อแล้ว เนื่องจากสินค้าขาดแคลน และเงินจ๊าตอ่อนค่าลงอย่างมาก