บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เช่น เฟซบุ๊ก แอมะซอน และกูเกิล อาจได้รับผลกระทบจากการที่กลุ่ม G7 มีมติสนับสนุนการเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกอย่างน้อย 15% เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทข้ามชาติหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการโยกย้ายผลกำไรไปยังประเทศที่เก็บภาษีในอัตราต่ำ
จุดเริ่มต้นของแนวคิดการเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกนั้น มาจากการที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐ ได้เสนอให้กำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำที่ระดับ 15% ทั่วโลก เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทของสหรัฐย้ายฐานธุรกิจและการสร้างผลกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐได้เสนอให้ปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลภายในประเทศ
รัฐบาลอังกฤษได้แสดงท่าทีสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวของปธน.ไบเดน ส่วนประเทศอื่นๆ ในยุโรปได้ให้การสนับสุนเช่นกัน ซึ่งรวมถึงฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี โดยต่างก็เห็นพ้องว่า เป็นเรื่องเหมาะสมหากจะมีการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวร่วมกันภายในเดือนก.ค.ปีนี้
ด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยว่า การเก็บภาษีขั้นต่ำนี้จะยุติปัญหาที่บริษัทต่างๆ ย้ายเข้าไปดำเนินการธุรกิจในประเทศที่เรียกเก็บภาษีต่ำ และจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกขยายตัว รวมทั้งจะทำให้ธุรกิจได้รับโอกาสที่เสมอภาค และส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ สามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม
การที่กลุ่ม G7 พร้อมใจกันลงมติสนับสนุนการเก็บภาษีนิติบุคคลทั่วโลกในครั้งนี้ ถือเป็นมติที่เหนือความคาดหมาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายอังเกล เกอร์เรีย เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า ประเทศทั่วโลกจะยังไม่บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีตามข้อเสนอของปธน.ไบเดนจนกว่าจะถึงเดือนต.ค.ปีนี้
นายเกอร์เรียเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ว่า "ในช่วงแรกนั้น การเจรจาเรื่องข้อเสนอของสหรัฐมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยมีการคาดการณ์ว่าทุกฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงในการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G7 ในเดือนมิ.ย. แต่มีหลายประเทศซึ่งรวมถึงสหรัฐเอง จำเป็นต้องทบทวนรายละเอียดด้านกฎหมายก่อนที่จะมีการทำข้อตกลง ซึ่งทำให้เราคาดว่า การบรรุข้อตกลงในเรื่องนี้จะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงเดือนต.ค.ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G7 จะจัดการประชุม และจากนั้นจะตามด้วยการประชุมกลุ่ม G20"