ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นทะลุแนว 75 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้
-- จับตาตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ คาดเปิดบวกตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา
-- การประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส อาจจะต้องเลื่อนออกไปเป็นวันนี้ (2 ก.ค.) เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีเวลามากขึ้นในการหารือกันเกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน
-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกสะสมมีจำนวน 183,161,978 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 3,965,643 ราย
สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (34,541,123) รองลงมาคืออินเดีย (30,438,090) บราซิล (18,559,164)
-- กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 24,836 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,203,108 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
-- นายฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรปกล่าวว่า ยุโรปกำลังใกล้จะเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ และไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะเป็นสายพันธุ์หลักในเดือนส.ค.
-- นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวเมื่อวานนี้ว่า ญี่ปุ่นอาจจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกโดยไม่อนุญาตให้มีผู้เข้าชม โดยเรื่องนี้จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ
-- นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐ ประกาศว่า 130 ชาติได้เห็นพ้องกับการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำระดับโลก (Global Minimum Tax) หรือ GMT ต่อบริษัทขนาดใหญ่
หากมีการบังคับใช้ข้อตกลง GMT อย่างแพร่หลาย ก็จะทำให้บริษัทขนาดใหญ่ยุติพฤติกรรมในการตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ เช่น ไอร์แลนด์และหมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น แม้ว่าบริษัทดังกล่าวมีการดำเนินงานและมีผู้บริหารอยู่ในประเทศอื่น
-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 51,000 ราย สู่ระดับ 364,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค. 2563
ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 390,000 ราย และต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 415,000 ราย
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 60.6 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 61.0 หลังจากแตะระดับ 61.2 ในเดือนพ.ค.
ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการจ้างงานเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ท่ามกลางการขาดแคลนวัตถุดิบและแรงงาน ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลงเช่นกัน
ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 62.1 ในเดือนมิ.ย. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนพ.ค.
ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน แม้มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน
-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้ สหรัฐมีกำหนดการรายงานดุลการค้าเดือนพ.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.เวลา 19.30 น. ตามเวลาไทย
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 706,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 5.6%
นักลงทุนมองว่าข้อมูลแรงงานจะเป็นปัจจัยบ่งชี้แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า เฟดจะจับตาข้อมูลสถิติของตลาดแรงงานเป็นวงกว้าง โดยเฟดไม่มองแค่จำนวนคนที่ไม่มีงานทำเท่านั้น แต่จะดูมาตรวัดทั้งหมดของตลาดแรงงาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเฟดจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ