นายเฉิง ซงเจิน อดีตหัวหน้าสำนักงานสถิติของธนาคารกลางจีนได้แสดงความเชื่อมั่นว่า การที่ธนาคารกลางจีนปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) นั้น จะช่วยให้ธนาคารกลางจีนสามารถรับมือกับความเสี่ยงหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน และจะช่วยลดแรงกดดันช่วงขาลงของเงินหยวนด้วย
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลด RRR ในอัตรา 0.50% สำหรับสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. ยกเว้นสถาบันการเงินที่มีการกันสำรองอยู่ที่ระดับ 5% อยู่แล้ว โดยคาดว่าการปรับลด RRR จะช่วยให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 1 ล้านล้านหยวน (1.544 แสนล้านดอลลาร์) ในระยะยาว
ธนาคารกลางจีนระบุว่า หลังการปรับลด RRR ในครั้งนี้ ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ RRR สำหรับสถาบันการเงินของจีนจะอยู่ที่ระดับ 8.9%
นายซงเจินได้แสดงความเห็นผ่านทางบทความในนิตยสาร Sina Finance ว่า "การปรับลด RRR จะช่วยให้จีนมีพื้นที่ในการรับมือกับการที่เฟดปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยหากเฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นั้น จะทำให้ค่าสเปรดอัตราดอกเบี้ยของจีนและสหรัฐปรับแคบลง ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินเก็งกำไร (hot money) ไหลออกจากประเทศจีน"
"การปรับลด RRR อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยของจีนปรับตัวลดลงในระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยชะลอการไหลเข้าของเม็ดเงินเก็งกำไร และจะทำให้จีนมีพื้นที่ในการปรับนโยบายในอนาคต นอกจากนี้ ยังช่วยลดแรงกดดันที่อาจทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงด้วย" นายซงเจินกล่าว
ทั้งนี้ นายซงเจินกล่าวว่า เศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพและยังคงอยู่ในภาวะไร้สมดุล ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งความเสี่ยงด้านหนี้สินของรัฐบาล