ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (China Evergrande Group) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ออกแถลงการณ์ยอมรับว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
นอกจากนี้ เอเวอร์แกรนด์ยังได้แจ้งระงับการซื้อขายหุ้นกู้ภายในประเทศของทางบริษัท ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าอาจปูทางไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้ หรืออาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้
ข้อมูลที่มีการยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ระบุว่า เอเวอร์แกรนด์มีตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563
ทั้งนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 แห่งได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอเวอร์แกรนด์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ได้สั่งระงับการซื้อขายหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ที่มีกำหนดครบอายุในเดือนพ.ค.2566 หลังจากที่ทรุดตัวลงมากกว่า 30%
ทางด้านเอเวอร์แกรนด์ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร ระบุว่า ทางบริษัทได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของทางบริษัท
นอกจากนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวเตือนว่า ขณะนี้ ยังไม่มีการรับประกันใดๆว่าบริษัทจะสามารถชำระหนี้ได้ตามภาระผูกพัน
ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ลูกค้าของบริษัทแห่กันมารวมตัวหน้าสำนักงานของบริษัททั้งในเมืองเสิ่นเจิ้น และอีกหลายเมืองทั่วประเทศจีนเพื่อขอเงินดาวน์คืนจากการที่บริษัทได้ระงับการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยจำนวนมาก เนื่องจากขาดแคลนเงินทุน
มีการประเมินว่า ขณะนี้เอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน หลังจากที่บริษัทได้ทำการกู้เงินมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน
สถานะทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์เริ่มสั่นคลอน หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมภาวะร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสกัดการก่อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในภาคดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ดิ่งลงอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขาย ท่ามกลางความไม่มั่นใจต่อสถานะทางการเงินของบริษัท
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เชื่อว่าในท้ายที่สุดรัฐบาลจีนจะเข้าช่วยเหลือบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ตามคำกล่าวที่ว่า too big to fail โดยจะไม่ปล่อยให้เกิดการล้มละลาย เนื่องจากการล้มละลายของบริษัทจะสร้างความเสี่ยงครั้งใหญ่ต่อระบบการเงินของจีน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
ขณะนี้รัฐบาลของมณฑลกวางตุ้งได้ส่งเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำปรึกษาในการปรับโครงสร้างหนี้ของเอเวอร์แกรนด์แล้ว
ทั้งนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเสาหลักสำคัญในการขยายตัวของจีน โดยมีสัดส่วนผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงเกือบ 30% ซึ่งการล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลกระทบลุกลามไปยังบริษัทอื่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสร้างความเสี่ยงต่อระบบธนาคารของจีน