นายติง ลู่ หัวหน้านักวิเคราะห์ของบริษัทโนมูระได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปีนี้ลงสู่ระดับ 7.7% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 8.2% เนื่องจากคาดว่าวิกฤตพลังงานในจีนอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ
วิกฤตพลังงานของจีนขณะนี้เกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ โดยในบางมณฑลได้สั่งให้ลดการดำเนินงานในภาคอุตสาหกรรมลง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการปล่อยมลพิษและค่าความเข้มข้นของการใช้พลังงาน ในขณะที่มณฑลอื่น ๆ เผชิญกับการขาดแคลนไฟฟ้าอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่พุ่งทะยานขึ้นทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าชะลอการผลิต ท่ามกลางความต้องการใช้ที่สูงขึ้น
ในเดือนก.ย. 2563 ปธน.สี จิ้นผิง ประกาศว่า จีนตั้งเป้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) ในปริมาณสูงสุดก่อนปี 2573 และจะบรรลุเป้าหมายในการสร้างสมดุลคาร์บอน (carbon neutrality) โดยจะลดการปล่อย CO2 ลงเป็นศูนย์ให้ได้ก่อนปี 2603 โดยปธน.สีได้ประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีแห่งการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (UN)
ทั้งนี้ วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นในจีนขณะนี้ถือเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยฟิทช์ เรทติ้งส์ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนในปีนี้ลงสู่ระดับ 8.1% จากระดับ 8.4% โดยระบุว่าการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์จีนจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ นอกจากนี้ วิกฤตหนี้สินของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีนยังส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนด้วย
ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกาได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลข GDP ปีนี้ของจีนลงสู่ระดับ 8% จากระดับ 8.3% และได้ปรับลด GDP ในปีหน้าลงสู่ระดับ 5.6% จากระดับ 6.2% อันเนื่องมาจากปัญหาหนี้สินของบริษัทเอเวอร์แกรนด์, การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 และการที่รัฐบาลออกมาตรการควบคุมภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง