กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 500,000 ตำแหน่ง หลังจากแตะระดับ 366,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค.
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.1% จากระดับ 5.2% ในเดือนส.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 1,091,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 1,053,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนส.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 366,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 235,000 ตำแหน่ง
กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในเดือนก.ย. ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 317,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานลดลง 123,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.6% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.4%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 61.6%
นักลงทุนมองต่างมุมเกี่ยวกับการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันนี้ โดยบางส่วนผิดหวังต่อตัวเลขดังกล่าว โดยมองว่าตัวเลขจ้างงานที่ต่ำกว่าคาดบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงอ่อนแอ และส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวขึ้น หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่นักลงทุนอีกส่วนหนึ่งมองมุมบวกว่า ตัวเลขการจ้างงานที่ต่ำกว่าคาดดังกล่าว จะทำให้เฟดยังไม่เร่งประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ถือเป็นโจทย์ยากของเฟดในการตัดสินใจว่าจะถอนการผ่อนคลายนโยบายการเงินตามแผนที่คาดไว้หรือไม่ เนื่องจากรายละเอียดในรายงานตัวเลขจ้างงานฉบับนี้บ่งชี้ทิศทางที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรโดยรวมต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์อยู่มาก แต่อัตราการว่างงานที่ดีกว่าคาด และอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี ก็ได้ช่วยผ่อนคลายความกังวลต่อตลาดแรงงาน
นอกจากนี้ การที่กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับเพิ่มตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.ค.และส.ค. ก็ได้บ่งชี้การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน
ขณะเดียวกัน การที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ได้เพิ่มขึ้น 0.6% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.4% ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และอาจเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดวงเงิน QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย