World Today: ประเด็นข่าวต่างประเทศน่าติดตามวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2021 08:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (24 พ.ย.) หลังจากบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ซึ่งรวมถึงนอร์ดสตรอม และแก๊ป อิงค์ เปิดเผยผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนบวก โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,804.38 จุด ลดลง 9.42 จุด หรือ -0.03%

-- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อคืนนี้ (24 พ.ย.) โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความเห็นตรงกันว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ควรเตรียมความพร้อมในการเร่งปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน

"กรรมการหลายคนของเฟดตระหนักว่า คณะกรรมการ FOMC ควรจะเตรียมความพร้อมในการปรับจังหวะเวลาในการลดวงเงิน QE และปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Federal Funds Rate) ให้เร็วขึ้นจากการคาดการณ์ในปัจจุบัน หากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของคณะกรรมการ FOMC" เฟดระบุในรายงานการประชุมประจำวันที่ 2-3 พ.ย.

-- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1% ในการประชุมวันนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อและหนี้สินภาคครัวเรือน

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ และถือเป็นการยุติการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับใกล้ 0% เป็นเวลานานถึง 20 เดือนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศ

-- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ระบุว่า โอเปกพลัสไม่มีการหารือกันเกี่ยวกับการระงับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันแต่อย่างใด ตามที่ปรากฎในสื่อก่อนหน้านี้

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียกำลังพิจารณาระงับแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรลในแต่ละเดือน เพื่อตอบโต้มาตรการของสหรัฐและประเทศพันธมิตรในการระบายน้ำมันดิบจากคลังสำรอง ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และคูเวตคัดค้านการระงับการเพิ่มกำลังการผลิตดังกล่าว

-- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 481,000 บาร์เรล

EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 787,000 บาร์เรล

-- ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 67.4 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2554 จากระดับ 71.7 ในเดือนต.ค.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 66.8 ในเดือนพ.ย.

-- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 5.0% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2533

ดัชนี PCE ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน

-- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2564 เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 2.1% โดยสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งแรกที่ระดับ 2.0% แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.2%

ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจกิจสหรัฐเติบโต 6.7% ในไตรมาส 2 และ 6.3% ในไตรมาส 1

-- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 71,000 ราย สู่ระดับ 199,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2512

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 260,000 ราย และปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน

-- Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน สู่ระดับ 96.5 ในเดือนพ.ย. จากระดับ 97.7 ในเดือนต.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 96.6

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากภาวะคอขวดในภาคการผลิต, การพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจของเยอรมนีมีความเชื่อมั่นลดลงต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

-- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีกำหนดประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย, ญี่ปุ่นจะเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนก.ย. และเยอรมนีมีกำหนดเปิดเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.จากสถาบัน GfK และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2564 (ประมาณการครั้งสุดท้าย)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ