นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลียเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อคืนวานนี้ (14 ธ.ค.) หลังถูกระบุว่าเป็นผู้สัมผัสทั่วไป (casual contact) กับผู้ติดเชื้อ
-- สำนักข่าวซีเอ็นบีซีนำเสนอเอกสารภายในของบริษัทกูเกิลซึ่งระบุว่า พนักงานของกูเกิลจะไม่ได้รับค่าจ้างและจะถูกไล่ออกในที่สุด หากไม่ปฏิบัติตามนโยบายของบริษัทในเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
เอกสารดังกล่าวระบุว่า พนักงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎการฉีดวัคซีนภายในวันที่ 18 ม.ค. 2565 นั้น จะถูกสั่งพักงานชั่วคราว แต่ยังได้รับเงินค่าจ้างเป็นเวลา 30 วัน หลังจากนั้น หากยังไม่ฉีดวัคซีนจะถือว่าเป็นการลากิจแบบไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน แล้วตามด้วยการเลิกจ้าง
-- นายแพทย์แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในสหรัฐ
-- ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 3% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดในสหรัฐ
-- สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อเที่ยงคืนวันอังคาร (14 ธ.ค.) กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาประกาศการตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รายแรกของประเทศ ซึ่งเป็นผู้เดินทางมาจากประเทศกานาทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา
แถลงการณ์ระบุว่า ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนรายแรกของกัมพูชา เป็นผู้หญิงชาวกัมพูชา วัย 23 ปี โดยสถาบันปาสเตอร์ของกัมพูชายืนยันว่าผู้ป่วยมีผลตรวจเชื้อโอมิครอนเป็นบวกเมื่อวันอังคาร (14 ธ.ค.) ที่ผ่านมา
ผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ เดินทางจากกานามาถึงกัมพูชาเมื่อวันอาทิตย์ (13 ธ.ค.) โดยแวะพักต่อเครื่อง 2 ครั้ง ที่เมืองดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกรุงเทพฯ ก่อนจะพบว่ามีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวกระหว่างตรวจโรคแบบเร็วที่ท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญ
-- ผลการศึกษาล่าสุดบ่งชี้ว่า วัคซีนของทั้ง 3 บริษัทที่ได้รับการอนุมัติจากสหรัฐซึ่งได้แก่ วัคซีนของโมเดอร์นา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และไฟเซอร์/ไบออนเทค ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หากไม่มีการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์
-- ผลการศึกษาล่าสุดของฮ่องกงเปิดเผยว่า วัคซีนของบริษัทซิโนแวคไม่สามารถสร้างแอนติบอดีได้มากพอที่จะต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชนเร่งฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์โดยเร็วที่สุด
ภาควิชาจุลชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงได้เปิดเผยข้อมูลในขั้นต้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคในการป้องกันเชื้อไวรัสโอมิครอน โดยได้ทำการทดสอบอาสาสมัคร 25 คนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบโดสแล้ว ซึ่งผลเลือดของทุกคนออกมาตรงกันว่า "มีแอนติบอดีในเลือดไม่เพียงพอที่จะต้านเชื้อไวรัสโอมิครอนได้"
การทดสอบดังกล่าวได้มีการเปรียบเทียบกับกลุ่มอาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ของบริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทคจำนวน 25 ราย โดยผลออกมาว่า อาสาสมัคร 5 รายมีแอนติบอดีเพียงพอที่จะต้านเชื้อไวรัสโอมิครอน สอดคล้องกับผลการศึกษาที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาของไฟเซอร์ซึ่งระบุว่า วัคซีนเข็ม 3 ของบริษัทมีแนวโน้มต้านเชื้อไวรัสโอมิครอนได้
-- บริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทคมีแนวโน้มก้าวขึ้นเป็นซัพพลายเออร์วัคซีนป้องกันโควิด-19 รายใหญ่ที่สุดของโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ในช่วงต้นปี 2565 แซงหน้าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวัคซีนชนิด mRNA ดังกล่าวมีความสำคัญต่อประเทศยากจนมากขึ้น