ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยรายงานทบทวนเงินเฟ้อรอบครึ่งปีในวันนี้ โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะอยู่เหนือเป้าหมายของธนาคารกลางที่ระดับ 2% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากปัญหาคอขวดด้านอุปทาน
"เกาหลีใต้ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงของเงินเฟ้อในช่วงขาขึ้น โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง, ปัญหาคอขวดด้านอุปทานทั่วโลกที่ยังคงยืดเยื้อ, การฟื้นตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภค และการคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น" ธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุในรายงานทบทวนเงินเฟ้อรอบครึ่งปี
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การเปิดเผยรายงานดังกล่าวมีขึ้นหลังจากธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1% ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ซึ่งถือเป็นการยุติการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับใกล้ 0% เป็นเวลานานถึง 20 เดือน โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อและหนี้สินภาคครัวเรือน
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 3.7% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและเชื้อเพลิง ปรับตัวขึ้น 1.9%
ส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนของเกาหลีใต้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,844.9 ล้านล้านวอน (1.58 ล้านล้านดอลลาร์) ณ สิ้นเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 36.7 ล้านล้านวอนจากช่วง 3 เดือนก่อนหน้านั้น โดยการพุ่งขึ้นของหนี้สินภาคครัวเรือนมีสาเหตุมาจากต้นทุนการกู้ยืมที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์มาเป็นเวลานาน และมีแนวโน้มที่จะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้