รายงานสรุปความคิดเห็นของกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประจำเดือนธ.ค.ระบุว่า กรรมการส่วนใหญ่ของ BOJ มองว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นนั้น เป็นผลมาจากราคาพลังงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยราคาสินค้าเหล่านี้กำหนดโดยบริษัทเอกชน
อย่างไรก็ดี กรรมการ BOJ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้น จะไม่ส่งผลให้ BOJ เปลี่ยนแปลงการผ่อนคลายนโยบายการเงินในปัจจุบัน เนื่องจากเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% และการปรับนโยบาย "ก่อนกำหนด" จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ในการประชุมนโยบายเมื่อวันที่ 16-17 ธ.ค. BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) แต่ตัดสินใจลดวงเงินในโครงการจัดหาเงินทุนสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ โดยจะค่อยๆ ปรับลดการซื้อหุ้นกู้ (Corporate Bond) และตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) เนื่องจากภาคเอกชนมีภาวะการเงินที่ดีขึ้น
กรรมการรายหนึ่งของ BOJ ระบุว่า "การที่ดัชนีราคาผู้ผลิตพุ่งแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นนั้น ส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากดัชนีราคาผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน"
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสดซึ่งมีความผันผวน ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563 อันเนื่องมาจากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้นและสกุลเงินเยนที่อ่อนค่าลง
ส่วนรายงานการประชุมเดือนต.ค.ที่ผ่านมานั้น กรรมการบางคนของ BOJ กล่าวว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงอ่อนแอ แม้ต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้นและเงินเยนอ่อนค่าลง พร้อมกับกล่าวว่า BOJ ควรดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไปเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2%
นอกจากนี้ BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสำหรับปีงบการเงินที่สิ้นสุดในเดือนมี.ค. โดยคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัว 3.4% ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.8% ส่วนราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารสดที่มีความผันผวนนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.0% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 0.6%