ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการศึกษาเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของสกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัล โดยระบุว่าประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากสกุลเงินดังกล่าวมากที่สุดนั้น รวมถึงการช่วยสนับสนุนให้สกุลเงินดอลลาร์ยังคงมีสถานะที่สำคัญในตลาดโลก
รายงานดังกล่าวซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเฟดนั้น ยังไม่มีการสรุปเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) แต่มุ่งเน้นเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องข้อดีและข้อเสียในการออกสกุลเงินดังกล่าว
"การออกสกุลเงิน CBDC ควรสะท้อนถึงการสร้างนวัตกรรมขั้นสูงในสกุลเงินของอเมริกา" รายงานของเฟดระบุ ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เฟดมีความตั้งใจที่จะเปิดกว้างให้สาธารณชนเข้ามาร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกสกุลเงิน CBDC ด้วย
ความเคลื่อนไหวของเฟดเกิดขึ้นในขณะที่หลายประเทศกำลังสำรวจเรื่องสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับการสนับสนุนและออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งรวมถึงจีนที่กำลังผลักดันโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาสกุลเงินหยวนดิจิทัล ซึ่งทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐกังวลว่า สกุลเงินดิจิทัลของจีนอาจจะบั่นทอนสถานะของสกุลเงินดอลลาร์ในท้ายที่สุด
รายงานของเฟดยังระบุด้วยว่า สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจะช่วยเสริมสถานะของดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก และในขณะเดียวกันเฟดก็แสดงมุมมองว่า การใช้สกุลเงินดอลลาร์ทั่วโลกอาจจะลดลง หากหลายประเทศพากันออกสกุลเงินดิจิทัลของตนเองซึ่งมีความน่าดึงดูดมากกว่า
เฟดระบุว่า สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจะช่วยให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจได้รับความสะดวกและมีความปลอดภัยสำหรับใช้เป็นทางเลือกด้านการใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้การชำระบัญชีข้ามประเทศมีความรวดเร็วมากขึ้น และมีค่าธรรมเนียมที่ลดลง
อย่างไรก็ดี เฟดระบุถึงข้อเสียของสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งรวมถึงความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างว่า สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางนั้น อาจจะทำให้เกิดการไหลออกของเม็ดเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน นอกจากนี้ การปกป้องความเป็นส่วนตัว และการรับมือกับการเงินที่ผิดกฎหมายก็ถือเป็นอีกประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข
รายงานของเฟดระบุว่า เฟดไม่มีความประสงค์ที่จะผลักดันการออกสกุลเงินดิจิทัลโดยปราศจากเสียงสนับสนุนที่ชัดเจนจากบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดและสภาคองเกรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้เป็นกฎหมายที่เฉพาะเจาะจง
ทั้งนี้ เฟดกำลังจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับความคิดเห็นของสาธารณชนไปจนถึงวันที่ 20 พ.ค.ปีนี้