นายโอลลี เรห์น ประธานธนาคารกลางฟินแลนด์ให้สัมภาษณ์กับสื่อเยอรมันว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในกลุ่มยูโรโซนจะคลี่คลายลงในช่วงปีนี้ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ที่ระดับ 2% ตามเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วงสองปีข้างหน้า
นายเรห์นเปิดเผยกับ Handelsblatt หนังสือพิมพ์ธุรกิจของเยอรมนี ระบุว่า แนวโน้มที่อนาคต ECB จะกลับมาดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ "โดยส่วนตัว ผมคาดว่าข้อมูลเศรษฐกิจจะยังคงดีอยู่ แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนก็ตาม" เขาจึงมองว่าตามเหตุผลแล้ว การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งอย่างน้อยก็ไม่มีภาวะที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (Economic Shock) รอบใหม่
ก่อนหน้านี้ สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 5.0% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่ยูโรสแตทเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าว จากระดับ 4.9% ในเดือนพ.ย. นอกจากนี้ ดัชนี CPI ยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำหนดไว้กว่า 2 เท่า โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน
อย่างไรก็ดี นายโรเบิร์ต โฮลซแมน กรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยเมื่อเดือนธ.ค. ว่า ECB อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในช่วงสิ้นปี 2565 และการเรียกร้องให้ ECB ยุติการซื้อพันธบัตรนั้นนับเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่แข็งแกร่งว่า การซื้อพันธบัตรจะสิ้นสุดลงในช่วง 2 ไตรมาสหน้า
ทั้งนี้ ECB คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน จะอยู่ที่ 3.2% ใน 2565 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ระดับ 2% ก่อนลดลงสู่ระดับ 1.8% ในปี 2566 และ 2567