อินเทล คอร์ป บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐ ประสบชัยชนะครั้งใหญ่ในวันนี้ หลังจากต่อสู้ยาวนานถึง 12 ปี โดยศาลยุโรปประกาศให้คำตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ที่สั่งปรับอินเทลก่อนหน้านี้ถือเป็นโมฆะ
ทั้งนี้ General Court ซึ่งเป็นศาลสูงอันดับ 2 ของยุโรป มีคำวินิจฉัยในวันนี้ว่า "รายงานการวิเคราะห์ของ EC ยังไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถพิสูจน์ตามมาตรฐานทางกฎหมายว่าการให้ส่วนลดของอินเทลเป็นการขัดขวางการแข่งขันในตลาด"
ก่อนหน้านี้ EC ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) สั่งปรับอินเทลเป็นเงินจำนวน 1.06 พันล้านยูโร (1.2 พันล้านดอลลาร์) หรือเกือบ 40,000 ล้านบาทในปี 2552 โดยระบุว่าอินเทลขัดขวางการแข่งขันในตลาดไมโครชิป ด้วยการกดดันให้บริษัทเอเอ็มดี ซึ่งเป็นคู่แข่ง ต้องออกจากตลาด
EU เปิดเผยว่า ในระหว่างปี 2545-2550 อินเทลได้จ่ายเงินให้ผู้ผลิตหลายรายและผู้ค้าปลีกรายหนึ่งเพื่อให้ซื้อชิปของอินเทลแทนชิปของเอเอ็มดี นอกจากนี้ อินเทลได้คืนส่วนลดให้แก่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์หลายราย เช่น เอเซอร์ เดลล์ เอชพี เลอโนโว และเอ็นอีซี เพื่อให้ผู้ผลิตเหล่านี้ซื้อชิปหรือซีพียูของอินเทล หรือเพื่อให้บริษัทเหล่านี้ยุติหรือเลื่อนการวางจำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งชิปของเอเอ็มดี
นอกจากนี้ อินเทลยังจ่ายเงินให้บริษัทมีเดีย แซทเทิร์น โฮลดิง ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกสินค้าอิเล็คทรอนิคส์รายใหญ่สุดของเยอรมนี เพื่อให้ซื้อคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งชิปของอินเทลเท่านั้น ส่งผลให้พนักงานที่โรงงานในเมืองเดรสเดน ซึ่งเป็นโรงงานใหญ่ที่สุดในยุโรปของเอเอ็มดีไม่สามารถซื้อคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งชิปของเอเอ็มดีจากร้านค้าในเมืองที่โรงงานตั้งอยู่
ทั้งนี้ ค่าปรับจำนวน 1.06 พันล้านยูโรที่ EC สั่งปรับอินเทล นับเป็นค่าปรับมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าค่าปรับจำนวน 497 ล้านยูโรที่ EC ได้เคยสั่งปรับไมโครซอฟท์ด้วยข้อหาผูกขาดตลาดเมื่อปี 2547
อย่างไรก็ดี อินเทลประกาศอุทธรณ์คำสั่งปรับดังกล่าว ซึ่ง General Court มีคำพิพากษายืนตามคำตัดสินของ EC ในปี 2557 แต่ต่อมาในปี 2560 Court of Justice ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของยุโรป แจ้งให้ General Court พิจารณาคดีดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งตามคำอุทธรณ์ของอินเทล และนำมาซึ่งคำตัดสินให้คำสั่งของ EC เป็นโมฆะในวันนี้