นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเตือน ตลาดคริปโทฯส่อแววซ้ำรอยวิกฤติซับไพรม์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 31, 2022 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล เขียนบทความแสดงความคิดเห็นลงในหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ โดยเตือนว่า ความผันผวนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนั้น "คล้ายกันอย่างน่ากังวลกับวิกฤติสินเชื่อซับไพร์มในสหรัฐที่เคยฉุดตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ทรุดหนักและจุดชนวนให้เกิดวิกฤตการเงินโลกในช่วงปี 2550-2551"

"สถานการณ์ในตลาดคริปโทฯในขณะนี้ มีความคล้ายกับวิกฤตซับไพร์มเมื่อ 15 ปีก่อนจนน่ากังวล" นายครุกแมนระบุ

ทั้งนี้ วิกฤตซับไพร์มเกิดจากการที่ธนาคารปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ที่มีความสามารถชำระหนี้เงินกู้คืนต่ำกว่ามาตรฐาน โดยในขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นแบบเดียวกับในปัจจุบัน เมื่อตลาดอสังหาฯ อิ่มตัวแล้ว ผู้กู้ซื้อบ้านจำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ จนเป็นเหตุให้ธนาคารที่ปล่อยกู้ขาดทุนอย่างหนัก

นายครุกแมนให้เหตุผลว่า นักลงทุนคริปโทฯ ในตอนนี้ก็เหมือนคนกู้ซื้อบ้านในตอนที่ซื้อสินทรัพย์เพื่อเก็งกำไรในตอนนั้นโดยไม่เข้าใจความเสี่ยงอย่างแท้จริง

"ผู้กู้ซื้อบ้านหลายคนในช่วงเวลานั้นไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังจะเจอกับอะไร ส่วนเงินคริปโทฯที่ราคาผันผวนมากและดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวโยงกับปัจจัยพื้นฐานเลยนั้น ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับบรรดาสินทรัพย์เสี่ยงประเภทอื่น" นายครุกแมนระบุ

อย่างไรก็ดี นายครุกแมนมองว่าเงินคริปโทฯจะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากมูลค่าตลาดคริปโทฯไม่ใหญ่มากพอ โดยข้อมูลจากคอยน์เก็กโก (CoinGecko) ระบุว่า ตลาดคริปโทฯมีมูลค่าราว 1.7 ล้านล้านดอลลาร์

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีตั้งสังเกตว่า นายครุกแมนเป็นคนที่มองเงินคริปโทฯ ในแง่ลบ หรือ "บิตคอยน์แบร์" (bitcoin bear) โดยก่อนหน้านี้ก็ได้เปรียบเปรยเงินคริปโทฯ ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่

มุมมองของนายครุกแมนคล้ายคลึงกับนายนูเรล รูบินี หรือ ดร.ดูม ผู้ที่เคยทำนายวิกฤติซับไพรม์ได้อย่างถูกต้องเมื่อทศวรรษที่แล้ว และนายปีเตอร์ ชิฟฟ์ นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า บิตคอยน์เป็นสินทรัพย์เก็งกำไรที่ไม่มีคุณค่าในตัวเอง และฟองสบู่บิตคอยน์จะระเบิดออกในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ