สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 4.9% ในเดือนม.ค. 2565 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนธ.ค. 2564 ที่ระดับ 5.3% โดยดัชนี CPI ชะลอตัวเป็นครั้งแรก หลังจากขยายตัวติดต่อกันยาวนานถึง 6 เดือน
อย่างไรก็ดี สำนักงานสถิติเยอรมนีมองว่า ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวยังถือว่าสูงมาก โดยระบุว่า "วิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ภาวะคอขวดในด้านการขนส่ง, การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของราคาสินค้าในอุตสาหกรรมต้นน้ำ และการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานนั้น ล้วนแล้วแต่มีผลต่อตัวเลขเงินเฟ้อ"
ข้อมูลจาก Destatis เปิดเผยว่า ราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% และค่าบริการเพิ่มขึ้น 5% ส่วนราคาผลิตภัณฑ์พลังงานพุ่งขึ้นอย่างมากถึง 20.5%
ทั้งนี้ สภาผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจของเยอรมนี (GCEE) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีจะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% ในปีนี้
"ปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันที่ยืดเยื้อ ประกอบกับค่าจ้างที่สูงขึ้น และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง" GCEE กล่าว