World Today: ประเด็นข่าวต่างประเทศน่าติดตามวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 4, 2022 08:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 500 จุดในวันพฤหัสบดี (3 ก.พ.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ดิ่งลงกว่า 3.7% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2563 หลังจากบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก เปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นเฟซบุ๊กทรุดตัวลงกว่า 26% และฉุดหุ้นบริษัทเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียรายอื่น ๆ ดิ่งลงด้วย

-- เฟซบุ๊กระบุว่า ผลประกอบการของบริษัทได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งรวมถึงการที่บริษัทแอปเปิล อิงค์ เปลี่ยนแปลงนโยบายความเป็นส่วนตัวด้วยการอัปเดตระบบปฏิบัติการบน iPhone เป็น iOS 14.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ด้านโฆษณาของเฟซบุ๊ก เนื่องจากซอฟต์แวร์ iOS 14.5 กำหนดให้ผู้ใช้งานต้องให้ความยินยอมก่อนที่แอปพลิเคชันต่าง ๆ จะสามารถติดตามข้อมูลของผู้ใช้งาน

ผลประกอบการที่ย่ำแย่ส่งผลให้ราคาหุ้นเฟซบุ๊กปิดตลาดร่วงลง 26.39% และทำให้มูลค่าตลาดของเฟซบุ๊กหายไปกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังได้ฉุดราคาหุ้นของบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียดิ่งลงด้วย โดยหุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 3.9% หุ้นแอปเปิล ลดลง 1.67% หุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 3.32 หุ้นทวิตเตอร์ ร่วงลง 5.56% หุ้นสแนป ทรุดตัวลง 23.6% หุ้นพินเทอเรสต์ ร่วงลง 10.32%

-- ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ และ Nasdaq ฟิวเจอร์ฟื้นตัวขึ้นกว่า 200 จุดในช่วงเช้าวันนี้ ขานรับผลประกอบการของบริษัทแอมะซอน

ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของแอมะซอนช่วยหนุนบรรยากาศการซื้อขายในช่วงเช้านี้ หลังจากดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลงกว่า 500 จุด และดัชนี Nasdaq ดิ่งลงกว่า 3.7% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังกับผลประกอบการของบริษัทเมตา แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก

-- แอมะซอนเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 4/2564 พุ่งขึ้น 9% แตะที่ระดับ 1.374 แสนล้านดอลลาร์

ส่วนกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ระดับ 5.80 ดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.57 ดอลลาร์

-- ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือนเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2547

-- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวานนี้ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แม้ว่าเงินเฟ้อของยูโรโซนพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และปรับตัวเหนือเป้าหมาย 2% ของ ECB

-- Ofgem ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลอังกฤษที่มีหน้าที่กำหนดเพดานค่าไฟฟ้า ประกาศปรับเพดานค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือนในวันนี้ โดยจะเพิ่มขึ้น 54% ในเดือนเม.ย. จากปัจจุบันที่มีการกำหนดเพดานเฉลี่ยที่ระดับ 1,277-1,370 ปอนด์ต่อปี

การปรับเพิ่มดังกล่าว ถือเป็นการประกาศขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ครัวเรือนของอังกฤษมีค่าไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 700 ปอนด์ต่อปี

-- นายริชิ ซูแนค รัฐมนตรีคลังอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลจะหาทางเยียวยาภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟฟ้า โดยจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 200 ปอนด์ต่อครัวเรือน

ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษจะมอบส่วนลดดังกล่าวตั้งแต่เดือนต.ค. โดยจะมีการหักส่วนลดค่าไฟปีละ 40 ปอนด์ เป็นเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ รัฐบาลจะให้ส่วนลดภาษี council tax ครัวเรือนละ 150 ปอนด์ โดยรัฐบาลเรียกเก็บภาษีดังกล่าวตามมูลค่าบ้าน

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 238,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 245,000 ราย และต่ำกว่าตัวเลขที่มีการรายงานในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 261,000 ราย

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงสูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 59.9 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2564 แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 59.5 หลังจากแตะระดับ 62.3 ในเดือนธ.ค.

ดัชนีภาคบริการของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 51.2 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน จากระดับ 57.6 ในเดือนธ.ค.

ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งได้ฉุดอุปสงค์ในตลาด ทำให้คำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลง

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐลดลง 0.4% ในเดือนธ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.2% หลังจากดีดตัวขึ้น 1.8% ในเดือนพ.ย.

เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานพุ่งขึ้น 16.9% ในเดือนธ.ค.

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญวันนี้ สหรัฐจะมีการรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค. วันนี้เวลา 20.30 น. ตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนม.ค.ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเพียง 178,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.9%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ