EU เล็งทุ่มงบ 1.5 หมื่นล้านยูโรหนุนผลิตชิป หวังคลี่คลายภาวะอุปทานชะงักงัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 9, 2022 09:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สหภาพยุโรป (EU) สนับสนุนการลงทุนเพิ่มเติมในด้านการผลิตชิป เพื่อป้องกันการเกิดภาวะชะงักงันในห่วงโซ่อุปทานเพิ่มมากขึ้นในภายภาคหน้าและหวังพึ่งพาบริษัทต่างชาติน้อยลง

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกมาประกาศกฎหมายชิปยุโรป (European Chips Act) ในวันอังคาร (8 ก.พ.) เพื่อจัดสรรงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านยูโร (1.711 หมื่นล้านดอลลาร์) สำหรับการลงทุนในภาครัฐและเอกชนเพิ่มเติมถึงปี 2573 ซึ่งเป็นส่วนเสริมจากงบประมาณ 3 หมื่นล้านยูโรที่จัดสรรไว้สำหรับการลงทุนภาคสาธารณะก่อนหน้านี้

"โรคระบาดได้เผยให้เห็นถึงความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานชิป โดยภาวะขาดแคลนชิปทั่วโลกได้ชะลอการฟื้นตัวของเราอย่างมาก" นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของ EU กล่าว

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า บริษัทยานยนต์และธุรกิจอื่น ๆ ใน EU ต้องประสบกับความยากลำบากเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยชิปถือเป็นชิ้นส่วนจำเป็นในการผลิตสิ่งต่าง ๆ เช่น สินค้าสำหรับภาคครัวเรือนและการผลิตรถยนต์

"เราตั้งเป้าให้ยุโรปมีสัดส่วนการผลิตชิปในตลาดโลกราว 20% ในปี 2573 จาก 9% ในปัจจุบัน" นางฟอน เดอร์ เลเยนกล่าว การส่งเสริมการผลิตชิปใน EU ถือเป็นหนึ่งในคำมั่นสำคัญที่นางฟอน เดอร์ เลเยนได้ให้ไว้ในเดือนก.ย. ในระหว่างที่แถลงต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติยุโรป

เมื่อวานนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศเจตนารมณ์ในการปรับเกณฑ์การช่วยเหลือระดับประเทศ เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคสาธารณะเพิ่มเติมในภาคส่วนนี้ โดยโครงการใหม่ที่ต้องการรับงบประมาณจากรัฐ โดยไม่ละเมิดกฎระเบียบการช่วยเหลือระดับประเทศนั้นจะต้องผ่านการทดสอบที่จัดเตรียมเอาไว้ ซึ่งหมายความว่ายังไม่มีการตั้งโรงงานลักษณะเดียวกันหรือกำลังจะมีการสร้างโรงงานลักษณะเดียวกันขึ้น

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอล่าสุดนี้ยังต้องมีการหารือและผ่านการอนุมัติจากประเทศสมาชิก EU และสภานิติบัญญัติของแต่ละประเทศเสียก่อน

ขณะนี้ หลายประเทศพยายามยกระดับการผลิตชิป โดยอังกฤษและเกาหลีใต้เตรียมลงนามในข้อตกลงเพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานสำหรับผลิตภัณฑ์สำคัญที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด เช่น เซมิคอนดักเตอร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ