ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
กระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนม.ค.ในวันนี้ เวลา 20.30 น. ตามเวลาไทย
นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวดาวโจนส์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไปเดือนม.ค.จะพุ่งขึ้น 7.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีหรือนับตั้งแต่ปี 2525 และสูงกว่าในเดือนธ.ค.ซึ่งมีการขยายตัว 7%
ขณะเดียวกันคาดว่า ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 5.9% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าเดือนธ.ค.ที่มีการขยายตัว 5.5%
ดัชนี CPI ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อตลาดต่าง ๆ เนื่องจากการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้น ถูกมองว่าอาจมีผลทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ที่ผ่านมานั้น เฟดได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะใช้มาตรการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค.
แบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ซึ่งหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่แบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ หมายความว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทั้ง 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.
ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดพุ่งแตะ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้ จากปัจจุบันที่ระดับ 0.00-0.25%