นายคาซูชิเกะ คามิยามะ หัวหน้าฝ่ายระบบการชำระหนี้ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า ธนาคารกลางในกลุ่ม G7 จำเป็นต้องเร่งสร้างกรอบการดำเนินงานที่เป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อควบคุมดูแลสกุลเงินดิจิทัล เนื่องจากสงครามยูเครนอาจทำให้รัสเซียใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นช่องทางในการหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลทั่วโลกกำลังจับตาสินทรัพย์สกุลเงินคริปโทฯ และสเตเบิลคอยน์ (Stablecoin) อย่างใกล้ชิด เนื่องจากกังวลว่า สกุลเงินเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรที่นานาประเทศบังคับใช้กับรัสเซียนับตั้งแต่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน
นายคามิยามะกล่าวว่า สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายต่อระบบการชำระเงินทั่วโลก โดยเฉพาะสเตเบิลคอยน์ซึ่งเป็นสกุลเงินคริปโทฯ ที่มีการตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงินหลักของโลก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้ง่ายต่อการหลบหลีกการตรวจจับเมื่อมีการนำไปใช้ชำระเงินในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ยูโร และเยน
"การใช้สเตเบิลคอยน์ ทำให้ผู้ใช้สามารถสร้างระบบการชำระเงินทั่วโลกแบบส่วนตัวได้ไม่ยาก ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลของกลุ่ม G7 จึงต้องเร่งสร้างกรอบงานที่เป็นไปได้ทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการกำหนดกฎระเบียบในปัจจุบัน โดยกฎระเบียบเหล่านี้ยังไม่ได้นำมาบังคับใช้อย่างเต็มศักยภาพกับสกุลเงินดิจิทัลซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว" นายคามิยามะกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดสเตเบิลคอยน์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในแง่ของการใช้งาน โดยเป็นไปตามทิศทางของกระแสความสนใจในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ยกตัวอย่างเช่น เทเธอร์ (Tether) ซึ่งเป็นสเตเบิลคอยน์สกุลใหญ่ที่สุด มีเหรียญหมุนเวียนอยู่ในระบบคิดเป็นมูลค่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ เทียบกับ 4 พันล้านดอลลาร์เมื่อ 2 ปีก่อน
หน่วยงานกำกับดูแลมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสเตเบิลคอยน์ เนื่องจากเกรงว่าผู้ออกเหรียญไม่ได้สำรองเงินสกุลหลักไว้มากเพียงพอกับจำนวนเหรียญ รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่ว่าอาจมีผู้ใช้เหรียญเหล่านี้เพื่อฟอกเงินหรือกระทำการผิดกฎหมายอื่น ๆ ตลอดจนการที่รัสเซียอาจใช้คริปโทเคอร์เรนซีเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรจากกรณีการรุกรานยูเครน