กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศจับตาสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองในศรีลังกาอย่างใกล้ชิด หลังจากประชาชนได้ออกมาประท้วงทั่วประเทศ เพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลปล่อยให้เศรษฐกิจเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี
มาซาฮิโร โนซากิ หัวหน้าฝ่ายกิจการศรีลังกาของ IMF เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "เจ้าหน้าที่ IMF กำลังหาทางจัดการเจรจาร่วมกับทางการศรีลังกา ซึ่งรวมถึงการเจรจาในระหว่างที่รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของศรีลังกาเดินทางเยือนสหรัฐในช่วงปลายเดือนนี้"
ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ ผู้นำศรีลังกาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ศรีลังกากำลังขอความช่วยเหลือจาก IMF เพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายลดการขาดดุลการค้าไว้ประมาณ 14% ในปีนี้ รวมทั้งลดยอดขาดดุลการค้าลงสู่ระดับ 7 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ จาก 8.1 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ปธน.ราชปักษะประเมินว่า ศรีลังกาต้องใช้เงินช่วยเหลือ 5 พันล้านดอลลาร์เพื่อพยุงสถานะการเงินของประเทศ
ทั้งนี้ หาก IMF ตัดสินใจปล่อยเงินกู้ต่อ ก็จะกลายเป็นมาตรการช่วยเหลือทางการเงินรอบที่ 17 ที่ IMF อนุมัติให้กับศรีลังกา ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีเงื่อนไขมากมาย เช่น การปฏิบัติตามเป้าหมายทางการคลังอย่างเข้มงวด
ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ราคาพันธบัตรของรัฐบาลศรีลังกาทรุดตัวลงอย่างหนัก หลังเกิดเหตุการณ์ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อและการตัดกระแสไฟฟ้าเป็นวงกว้าง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี และยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลว่า ความปั่นป่วนทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของรัฐบาลในการชำระหนี้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น
ราคาพันธบัตรรัฐบาลศรีลังกามูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ซึ่งมีกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ค.ปีนี้ อยู่ที่ระดับ 59 เซนต์สหรัฐ ณ วันจันทร์ที่ 4 เม.ย. ซึ่งลดลง 7 เซนต์ และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563