"เยลเลน" เผยสหรัฐอาจต้องใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาสกุลเงิน CBDC

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 8, 2022 09:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยว่า สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) นั้น จะต้องใช้เวลาหลายปีในการพัฒนา หากรัฐบาลสหรัฐตัดสินใจแน่วแน่ที่จะออกสกุลเงินดังกล่าว พร้อมระบุว่า เธอรู้สึกถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการผลักดันให้มีการศึกษาเรื่องนี้

การแสดงความเห็นของนางเยลเลนมีขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งบริหารเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อสั่งการให้หน่วยงานทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐทำการประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี พร้อมกับสั่งให้เร่งการวิจัยและพัฒนาสกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัล

ทั้งนี้ นางเยลเลนได้กล่าวในการประชุมซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงวอชิงตันว่า "ดิฉันยังไม่สามารถบอกท่านได้ว่า ผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เราทราบในขณะนี้คือ การออกสกุลเงิน CBDC อาจจะมีความท้าทายในเรื่องการออกแบบและงานด้านวิศวกรรม ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลานานหลายปี ไม่ใช่หลายเดือนในการพัฒนา"

"ด้วยเหตุผลนี้เอง ดิฉันจึงสนับสนุนปธน.ไบเดนที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำการวิจัย เพื่อที่เราจะเข้าใจความท้าทายและโอกาสต่าง ๆ ที่สกุลเงิน CBDC อาจสร้างประโยชน์ต่อชาวอเมริกัน" นางเยลเลนกล่าว

นอกจากนี้ นางเยลเลนกล่าวว่า เธอเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการประเมินว่า สกุลเงิน CBDC จะทำให้การเข้าถึงระบบการเงินมีความสะดวกมากขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ควรบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางการเงินและการป้องกันความเป็นส่วนตัว รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของสกุลเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจโลก

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ปธน.ไบเดนได้สั่งการให้หน่วยงานทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐทำการประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาวิจัย 6 ประเด็นซึ่งได้แก่ การคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุน, เสถียรภาพด้านการเงิน, การทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย, ความสามารถด้านการแข่งขันของสหรัฐในตลาดโลก, โอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน และนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบ

ส่วนในเดือนม.ค.ปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานการศึกษาเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของสกุลเงิน CBDC พร้อมกับเปิดกว้างให้สาธารณชนเข้ามาร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกสกุลเงินดังกล่าวด้วย โดยจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับความคิดเห็นของสาธารณชนไปจนถึงวันที่ 20 พ.ค.ปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ