IMF เผยประเทศที่มีอัตราคอร์รัปชันสูงมักมีสัดส่วนการถือครองคริปโทฯมาก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2022 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า คริปโทเคอร์เรนซีเป็นที่นิยมมากในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการคอร์รัปชันสูง หรือมีการใช้มาตรการควบคุมเงินทุน (Capital Control) อย่างเข้มงวด

ผลการศึกษาของ IMF พบว่า สินทรัพย์ดิจิทัลอาจถูกผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ทำธุรกรรมเพื่อการคอร์รัปชัน หรือหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ด้านการควบคุมทางการเงิน อย่างไรก็ตาม IMF ไม่ได้ระบุรายชื่อของแต่ละประเทศโดยตรง

นอกจากนี้ รายงานของ IMF ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องออกมาตรการให้ผู้ใช้งานทำ KYC (Know Your Customer) ก่อนใช้บริการคริปโทเคอร์เรนซี หรือทรัพย์สินดิจิทัลอื่น ๆ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้งาน ออกแบบมาเพื่อป้องกันการฉ้อโกง การฟอกเงิน และการจัดหาเงินทุนของกลุ่มก่อการร้าย โดยในบางประเทศเช่น สหรัฐ ได้มีการออกมาตรการควบคุมดังกล่าวอยู่แล้ว

IMF ระบุว่า ทุกภาคส่วนควรให้ความสนใจกับผลลัพธ์ของการศึกษาครั้งนี้ แต่ต้องตีความด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามมีจำนวนไม่มาก และอาจมีความผันผวนของคุณภาพข้อมูล

อนึ่ง รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านการใช้งานคริปโทฯ ผ่านผลการสำรวจใน 55 ประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสตาทิสตา (Statista) บริษัทสัญชาติเยอรมนี โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามตั้งแต่ 2,000-12,000 คนในแต่ละดินแดน ต่อข้อคำถามที่ว่า ทำไมพวกเขาถึงเลือกถือครองหรือใช้งานทรัพย์สินดิจิทัลในปี 2563

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเปิดเผยรายงานดังกล่าวของ IMF เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามอย่างหนักที่จะร่างมาตรการกำกับดูแลตลาดคริปโทฯ ซึ่งปัจจุบันมีมูลสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบัน แต่ละประเทศจะมีรูปแบบการกำกับดูแลและระดับความเข้มงวดที่แตกต่างกันออกไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ