กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวเพียง 4.9% ในปี 2565 ซึ่งลดลง 0.5% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค. โดยระบุว่า เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มเผชิญปัญหา Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ สงครามยูเครน รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเอเชียเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน IMF คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในเอเชียจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 3.4% ในปี 2565 โดยตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนม.ค.
นางแอน-มารี กูลด์-วอล์ฟ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิกของ IMF กล่าวว่า แม้ว่าการค้าและการเงินของเอเชียได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนในวงจำกัด แต่เศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งนี้อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามดังกล่าวผ่านทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าของเอเชีย
นางกูลด์-วอล์ฟกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเอเชียเริ่มดีดตัวขึ้นนับตั้งแต่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงและสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค นอกจากนี้ เอเชียยังมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะ Stagflation ซึ่งเป็นภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงและอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น
นางกูลด์-วอล์ฟยังกล่าวด้วยว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จะสร้างความท้าทายให้กับบรรดาธนาคารกลางในเอเชีย เนื่องจากหนี้สินในรูปสกุลเงินดอลลาร์ของเอเชียนั้นมีมูลค่ามหาศาล
"สงครามในยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 รวมทั้งการที่เฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และการล็อกดาวน์เมืองสำคัญของจีนที่ยืดเยื้อยาวนาน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย" นางกูลด์-วอล์ฟกล่าว