สำนักงานสถิติเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ขยายตัวต่อเนื่องหลังเพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือนมี.ค. และยังเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 13 ปีนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2551
นอกจากนี้ ดัชนี CPI ของเกาหลีใต้ยังขยายตัวมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ซึ่งคาดกันว่าจะเพิ่มขึ้น 4.4%
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.1% เทียบรายปีในเดือนเม.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.9% ในเดือนมี.ค. และยังเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2552
ดัชนี CPI ของเกาหลีใต้ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานและอาหารบางประเภท โดยอยู่เหนือระดับเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มาเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันแล้ว ส่งผลให้คาดการณ์กันว่าแบงก์ชาติเกาหลีใต้จะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากที่เพิ่งประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.5% ในการประชุมเมื่อเดือนที่ผ่านมา
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุในขณะนั้นว่า อัตราเงินเฟ้อในประเทศพุ่งขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และยังทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นอย่างมาก ทั้งยังส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและหนี้สินภาคครัวเรือน แม้มีความกังวลว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตาม