นอกจากนี้เหล่านักเศรษฐศาสตร์ยังได้ลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับยูโรโซนตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ยูโรโซนต้องประสบกับภาวะตื่นตระหนกทางเศรษฐกิจจากสงครามในยูเครนและการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ซึ่งทวีความรุนแรงจากผลพวงของความขัดแย้งในยูเครน รวมถึงภาวะตื่นตระหนกด้านอุปทานจากนโยบายรักษายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ หรือ Zero-Covid ของจีน
ปัจจัยข้างต้นนี้ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อพุ่ง (Stagflation) ซึ่งเป็นช่วงที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ทว่าเงินเฟ้อกลับพุ่งสูงขึ้น อันนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในที่สุด
"เราเห็นการก่อตัวขึ้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่อย่างชัดเจน แต่อุปสงค์ยังคงเพิ่มสูงขึ้น เพราะวิกฤตการณ์โควิด-19 กำลังจะสิ้นสุดลง" นายสเตฟาน ฮาร์ตุง ซีอีโอบริษัทบ๊อช ยักษ์ใหญ่ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีของเยอรมนีกล่าว
"ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยจีนกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก อย่างไรก็ดี เมื่อดูในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกแล้ว อุปสงค์ผู้บริโภคเริ่มกระเตื้องขึ้นแล้วในบางพื้นที่"
นายฮาร์ตุงมองว่า เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องมือช่าง และยานพาหนะ กำลังเป็นที่ต้องการเป็นพิเศษ แต่ก็เตือนว่าอุปสงค์ดังกล่าวมีแนวโน้มค่อย ๆ ลดน้อยลง โดยอีกสักพักหนึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่วิกฤตอุปทานเท่านั้น แต่ยังเสี่ยงเกิดวิกฤตอุปสงค์ร่วมด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ เงินเฟ้อในยูโรโซนแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 7.5% ในเดือนมี.ค. โดยจนถึงขณะนี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายมากกว่าธนาคารกลางในประเทศอื่น ๆ เช่น ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างก็เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ