ศรีลังกามีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้เงินกู้พันธบัตรต่างประเทศวงเงินสูงถึง 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนให้นักลงทุนตระหนักว่าประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาเงินเฟ้อ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ระยะเวลาผ่อนผันการชำระหนี้ (grace period) มูลค่า 78 ล้านดอลลาร์ของศรีลังกาจะสิ้นสุดลงในวันนี้ (18 พ.ค.) ซึ่งอาจทำให้ศรีลังกาเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 2491 ขณะที่ราคาพันธบัตรของศรีลังกาทรุดตัวอย่างหนัก เนื่องจากผู้ถือพันธบัตรพากันเทขายหลังจากราคาดิ่งลงใกล้แตะระดับ 60 เซนต์สหรัฐ
การร่วงลงของราคาพันธบัตรสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมีความเชื่อมากขึ้นว่า ศรีลังกาจะประสบปัญหาในการชำระหนี้ เมื่อพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอนในเวลาอีกไม่เดือนข้างหน้านี้
กุยโด ชามอร์โร นักวิเคราะห์จากบริษัท Pictet Asset Management ซึ่งถือครองพันธบัตรศรีลังกาด้วยนั้น กล่าวว่า "การผิดนัดชำระหนี้ของศรีลังกาถือเป็นสัญญาณร้ายของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เราคาดว่าการที่เศรษฐกิจขยายตัวช้าลงและความยากลำบากในการระดมเงินทุนจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับประเทศกลุ่มนี้"
เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ศรีลังการะงับการชำระหนี้ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ และธนาคารกลางต้องสำรองเงินตราต่างประเทศไว้เพื่อนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น เชื้อเพลิง ส่งผลให้ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาลงสู่ระดับ C ซึ่งเป็นระดับขยะ และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาลงสู่ระดับ CC ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดระดับที่ 3
ศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการชำระค่านำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงรวมทั้งเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและยา ซึ่งจุดชนวนให้ความโกรธแค้นของประชาชนปะทุขึ้น และออกมาประท้วงตามท้องถนน
ทั้งนี้ ภาวะขาดแคลนเงินสดของศรีลังกาส่งผลให้รัฐบาลต้องบังคับใช้มาตรการควบคุมเงินทุน (Capital Control) , ควบคุมการนำเข้า และวางแผนที่จะเจรจาต่อรองเงื่อนไขกับผู้ถือพันธบัตรเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้รัฐบาลต้องผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้ ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกายังพยายามที่จะหันไปพึ่งพาเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)