นายฟรังซัวส์ วิลเลอรอย เดอ กาลฮาว ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสกล่าวว่า ภาวะปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเมื่อไม่นานมานี้ควรเป็น "สัญญาณเตือน" สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบทั่วโลก โดยคริปโทเคอร์เรนซีมีความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายต่อระบบการเงิน หากไม่มีการเข้าไปกำกับดูแล โดยเฉพาะสเตเบิลคอยน์ ซึ่งไม่มีเสถียรภาพสมชื่อ
ขณะที่นายฟาบิโอ ปาเนตตา สมาชิกคณะกรรมการของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า สเตเบิลคอยน์ เช่น เทเธอร์นั้นกำลังเผชิญกับภาวะประชาชนแห่เทขายเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ซึ่งคล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่ประชาชนแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร (Bank Run) ในช่วงที่เกิดความหวั่นวิตกว่าสถาบันการเงินเสี่ยงล้ม โดยขณะนี้สหภาพยุโรป (EU) กำลังวางแผนที่จะเข้าไปกำกับดูแลสเตเบิลคอยน์อย่างเข้มงวด โดยใช้กฎระเบียบใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ "ตลาดภายใต้การกำกับสินทรัพย์คริปโทเคอร์เรนซี" (Crypto-assets Regulation - MiCA)
นายฟรานเซส คอปโปลา นักเศรษฐศาสตร์อิสระอธิบายว่า แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯเป็นผู้ถอนเงินหลายพันล้านดอลลาร์ออกจากเทเธอร์ในการทำธุรกรรมครั้งใหญ่ ไม่ใช่นักลงทุนรายย่อยแต่อย่างใด
ข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัทเทเธอร์ระบุว่า หากลูกค้าต้องการแลกเทเธอร์กลับเป็นดอลลาร์ต้องถอนเงินสดขั้นต่ำ 100,000 ดอลลาร์
"ลูกค้าตัวจริงคือแพลตฟอร์มคริปโทฯนั่นเอง โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ขายเหรียญให้กับเทรดเดอร์และนักลงทุนรายย่อย" นายคอปโปกล่าว
ก่อนหน้านี้นักลงทุนได้พากันนำเงินสดมาพักไว้ในเหรียญเทเธอร์ ซึ่งเป็นสเตเบิลคอยน์สกุลใหญ่ที่สุด แต่ล่าสุดสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นักลงทุนได้เทขายเหรียญเทเธอร์กว่า 7 พันล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ราคาร่วงหลุดจากระดับที่ผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้เกิดความวิตกครั้งใหม่เกี่ยวกับทุนสำรองที่ใช้หนุนเหรียญเทเธอร์ซึ่งเป็นสเตเบิลคอยน์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
ข้อมูลจากคอยน์เกกโก (CoinGecko) ระบุว่า ปริมาณการหมุนเวียนของเหรียญเทเธอร์ลดลงจากประมาณ 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน ลงเหลือน้อยกว่า 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในวันอังคาร (17 พ.ค.)