"ไบเดน" เตรียมหารือ "เยลเลน" ปิดฉากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2022 23:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ส่งสัญญาณยุติการทำสงครามการค้ากับจีนในวันนี้ โดยกล่าวว่า เขากำลังพิจารณาที่จะปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

ปธน.ไบเดนกล่าวว่า เขาจะหารือเรื่องดังกล่าวกับนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนญี่ปุ่น และกลับสู่สหรัฐ

"ผมกำลังพิจารณาเรื่องนี้ โดยเราไม่ได้เป็นผู้กำหนดมาตรการเก็บภาษีดังกล่าว แต่เป็นรัฐบาลชุดที่แล้ว" ปธน.ไบเดนกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ นางเยลเลนได้แสดงความเห็นชอบที่จะให้มีการปรับลดอัตราภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจสหรัฐ

สถาบันปีเตอร์สันคาดการณ์ว่าการปรับลดอัตราภาษีต่อสินค้าจีนจะช่วยให้ชาวสหรัฐประหยัดเงินได้ราว 800 ดอลลาร์สำหรับแต่ละครัวเรือน

ด้านนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปธน.ไบเดนอาจทำการเจรจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

"ผมจะไม่แปลกใจหากปธน.ไบเดนและปธน.สีจะมีการหารือกันในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า" นายซัลลิแวนกล่าว

ถ้อยแถลงของปธน.ไบเดนในวันนี้เป็นการกล่าวย้ำสิ่งที่เขาเคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ว่า รัฐบาลสหรัฐจะยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าในสหรัฐ

ปธน.ไบเดนกล่าวว่า ทำเนียบขาวกำลังทบทวนมาตรการเก็บภาษีนำเข้าที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เคยบังคับใช้ และมีแนวโน้มที่จะยกเลิกทั้งหมด เนื่องจากการกำหนดภาษีนำเข้าดังกล่าวได้ส่งผลให้ราคาสินค้าทุกประเภทในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่ผ้าอ้อมเด็กไปจนถึงเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์

"เรากำลังประเมินสถานการณ์ว่า อะไรที่จะทำให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกมากที่สุด และเรากำลังพิจารณาการยกเลิกมาตรการเก็บภาษีที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน" ปธน.ไบเดนกล่าว

ก่อนหน้านี้ อดีตปธน.ทรัมป์ประกาศสงครามการค้ากับจีนด้วยการออกมาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน โดยมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมสินค้าที่ผลิตโดยชาวอเมริกัน

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการยกเลิกมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐ โดยการผ่อนปรนหรือการยกเลิกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าทั้งหมด อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกเพียงไม่กี่ทางที่ทำเนียบขาวจำเป็นจะต้องทำเพื่อฉุดต้นทุนสินค้าทุกประเภทให้ลดลง หลังจากที่เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ