สหรัฐประกาศข้อตกลงเศรษฐกิจ 13 ประเทศรวมไทย หวังรุกเอเชียต้านอิทธิพลจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 24, 2022 09:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐประกาศว่า กว่า 10 ประเทศในอินโด-แปซิฟิกจะเข้าร่วมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity : IPEF) โดยมีเป้าหมายที่จะต้านทานอิทธิพลของจีนในภูมิภาค แม้ยังคงมีข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็ตาม

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างอิงทำเนียบขาวว่า ประเทศที่เข้าร่วมกรอบความร่วมมือ IPEF ได้แก่ สหรัฐ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คิดเป็นสัดส่วน 40% ของทั้งโลก

ทำเนียบขาวระบุว่า การเปิดตัวกรอบความร่วมมือ IPEF ครั้งนี้ว่าถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการเดินทางเยือนเอเชียเป็นครั้งแรกของปธน.ไบเดน โดยปธน.ไบเดนกล่าวว่า "สหรัฐทุ่มการลงทุนจำนวนมากในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเรามีความมุ่งมั่นในโครงการระยะยาวนี้"

กรอบความร่วมมือ IPEF ถือเป็นความพยายามครั้งสำคัญที่สุดของสหรัฐในการเข้ามามีบทบาทด้านเศรษฐกิจในเอเชีย นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้นำสหรัฐถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ในปี 2560 โดยกรอบความร่วมมือ IPEF ฉบับล่าสุดนี้แตกต่างจากความตกลง TPP เพราะไม่ครอบคลุมถึงการลดภาษี และไม่มีการสรุปส่วนที่มีผลผูกพันทางกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ทำให้ยากที่จะประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้จากข้อตกลงดังกล่าว

ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือ IPEF จะประกอบด้วย 4 เสาหลักซึ่งได้แก่:

1. เศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกัน (Connected Economy) โดยสมาชิกต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งรวมถึง มาตรฐานสำหรับการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดน แรงงานและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความรับผิดชอบขององค์กร

2. พลิกฟื้นเศรษฐกิจ (Resilient Economy) โดยสมาชิกจะต้องมุ่งมั่นดำเนินการตามหลักปฏิบัติที่สามารถเพิ่มความแม่นยำของการคาดการณ์ และป้องกันภาวะติดขัดต่าง ๆ เช่น การป้องกันผ่านระบบคำเตือนล่วงหน้าและการสร้างความหลากหลาย

3. เศรษฐกิจสะอาด (Clean Economy) โดยสมาชิกจะต้องพยายามบรรลุเป้าหมายในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงในด้านพลังงานหมุนเวียน การยุติการใช้คาร์บอน และมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

4. เศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Fair Economy) โดยสมาชิกจะต้องจัดการด้านภาษีให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมุ่งมั่นต่อต้านพฤติกรรมการฟอกเงิน และการติดสินบน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ