สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า มูลค่าบัญชีเงินฝากในธนาคารจีนเพิ่มขึ้นมาแตะที่ 109.2 ล้านล้านหยวน (16.3 ล้านล้านดอลลาร์) เมื่อสิ้นเดือนเม.ย. โดยมูลค่าเงินฝากของจีนในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 7% ขณะที่เมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 5.5% สะท้อนว่าคนจีนแห่ฝากเงินธนาคาร หนีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นอย่างที่เคยเป็นมา
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวจีนนิยมสั่งสมความมั่งคั่งด้วยการเอาเงินส่วนใหญ่ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ และนำเงินที่เหลือไปลงทุนในตลาดหุ้น แต่ปัจจุบันแม้ครอบครัวที่มีเงินเหลือเก็บก็ยังต้องพยายามเก็บออมเงินไว้ เพราะไม่อยากเผชิญความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจจีนถูกกระทบจากโควิด-19
ก่อนหน้านี้ที่เศรษฐกิจจีนเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชาวจีนนิยมซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไร ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักประกันที่มั่นคงที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่ในจีน เพราะระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้ความมั่งคั่งของจีนกว่า 70% นั้นผูกอยู่กับอสังหาริมทรัพย์
แต่มุมมองด้านการลงทุนดังกล่าวพลิกกลับตาลปัตร เนื่องจากเมื่อปี 2564 รัฐบาลจีนพยายามสกัดการปล่อยสินเชื่อและการเก็งกำไรที่มากเกินไปในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ต้องผิดนัดชำระหนี้ หนึ่งในนั้นคือ บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและส่งผลให้ราคาขายบ้านใหม่ดิ่งลง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้อัตราการเติบโตของเงินกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนมี.ค. ปีนี้
หลังจากราคาบ้านในจีนร่วงลงตั้งแต่เดือนก.ย. ปีที่แล้ว ประกอบกับตลาดหุ้นจีนและกองทุนรวมก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดี โดยตลาดหุ้นจีนยังอยู่ในภาวะตลาดหมี (Bear Market) ส่วนดัชนี CSI 300 ก็ดิ่งลง 18% ในช่วงปีนี้ เนื่องจากการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Covid Zero) ที่เข้มงวด ขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศก็มีช่องทางให้เข้าถึงได้น้อย ส่วนการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีก็เป็นสิ่งผิดกฎหมายในจีน ชาวจีนจึงหันไปเก็บเงินในบัญชีเงินฝากกันเพิ่มขึ้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม
สำหรับแนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจของจีนนั้น นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวกว่า 4% ขณะที่นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 2% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5.5%