ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศจัดการประชุมฉุกเฉินในวันนี้ ท่ามกลางความผันผวนในตลาดพันธบัตรยูโรโซน
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนได้พุ่งขึ้น และส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอ หลังจากที่ ECB ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.
นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวหลังการประชุมว่า ECB จะประกาศใช้เครื่องมือใหม่เพื่อป้องกันการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
"การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเปราะบางต่อเศรษฐกิจในยูโรโซน และส่งผลให้ประเทศสมาชิกไม่สามารถดำเนินการอย่างสอดคล้องกันในการปรับนโยบายการเงินของ ECB กลับสู่ภาวะปกติ" แถลงการณ์ของ ECB ระบุ
แถลงการณ์ระบุว่า ECB จะใช้ความยืดหยุ่นในการนำรายได้จากการไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุมาลงทุนใหม่เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกยูโรโซนที่ประสบปัญหาหนี้สินจำนวนมาก
ทั้งนี้ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. แต่ได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
แถลงการณ์ระบุว่า "ECB มีความประสงค์ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ค. และปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนก.ย. ซึ่งหากเงินเฟ้อในระยะกลางยังคงมีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อไป ECB ก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในเดือนก.ย. ส่วนหลังจากเดือนก.ย. ECB จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป"
ขณะเดียวกัน ECB ระบุว่า ทางธนาคารจะยุติการซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP) ภายในสิ้นเดือนมิ.ย. ซึ่งเร็วกว่าที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะปูทางสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อในยูโรโซนที่พุ่งแตะระดับ 8.1% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2540 และสูงกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ระดับ 2%