สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานการเปิดเผยของนายเดนนิส อึ้ง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจโปรแกรม 737 ของบริษัทโบอิ้งเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) ซึ่งระบุว่า ขณะนี้ทางบริษัทสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาด้านซัพพลายเชนที่ส่งผลกระทบต่อการผลิต และการส่งมอบเครื่องบินรุ่น 737 MAX เมื่อเดือนที่แล้วได้แล้ว และจะสร้างเสถียรภาพยอดการผลิตให้ได้ตามอัตราเป้าหมายรายเดือน
"เราเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 31 ลำต่อเดือน ผมคิดว่าเราคาดหวังได้ว่าจะผลิตได้ตามเป้าหมายดังกล่าวภายในปลายปีนี้" นายอึ้งเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวขณะพาชมโรงงานผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 737 แบบมีช่องทางเดินเดียว (Single-aisle) ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองซีแอตเทิล หลังเครื่องบินรุ่นดังกล่าวถูกสั่งห้ามบินในปี 2562 จากเหตุการณ์เครื่องบินตก 2 ครั้งที่คร่าชีวิตประชาชนไปทั้งสิ้น 346 ราย
"ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องได้บุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมในจำนวนที่เหมาะสมและต้องมีชิ้นส่วนให้ประกอบตรงเวลา" นายอึ้งกล่าว "ที่เรามีในโรงงานขณะนี้ เรามีชิ้นส่วนที่จำเป็นครบแล้ว"
นายอึ้งระบุว่า โบอิ้งมุ่งแก้ไขปัญหาด้านซัพพลายเชน ตลอดจนการจ้างช่างเครื่องและวิศวกรในจำนวนที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนพนักงานที่ส่งผลกระทบต่อโบอิ้งในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด
โบอิ้งกล่าวว่า บริษัทผลิตและส่งมอบเครื่องบินได้ช้าลงในเดือนที่แล้ว เนื่องจากประสบปัญหาในการจัดหาขั้วต่อสายไฟบางชนิด อันเป็นผลส่วนหนึ่งจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน และขาดแคลนแรงงานจากโรคโควิด-19 ตลอดจนสงครามในยูเครน
ทั้งนี้ ปัญหาด้านซัพพลายเชนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในภาคอุตสาหกรรมและเป็นปัญหาด้านการรับรองที่ส่งผลกระทบมาถึงกลุ่มเครื่องบินของโบอิ้ง ซึ่งยิ่งเป็นการซ้ำเติมบริษัทที่เดิมทีก็เผชิญกับโควิด-19 และวิกฤตด้านความปลอดภัยของ 737 MAX