นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกาแถลงต่อรัฐสภาในวันพุธ (22 มิ.ย.) ว่า เศรษฐกิจศรีลังกาได้ล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว และการทำข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้ศรีลังการอดพ้นวิกฤต
"ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่รุนแรงยิ่งกว่าการขาดแคลนเชื้อเพลิง ก๊าซ ไฟฟ้า และอาหาร โดยเราไม่สามารถซื้อเชื้อเพลิงนำเข้า และไม่มีแม้แต่เงินสด เนื่องจากบริษัทปิโตรเลียมของรัฐบาลมีหนี้สินจำนวนมาก เรากำลังมองเห็นสัญญาณความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะทรุดตัวลงถึงจุดต่ำสุด" นายวิกรมสิงเหกล่าว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การแถลงดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลศรีลังกากำลังเจรจากับ IMF เพื่อทำข้อตกลงกู้ยืมเงินล็อตใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยศรีลังกาจำเป็นต้องใช้เงิน 6 พันล้านดอลลาร์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เพื่อเพิ่มเงินทุนสำรอง, ชำระหนี้สินค้านำเข้ามูลค่ามหาศาล และสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงิน
ทั้งนี้ นายวิกรมสิงเหกล่าวว่า "ศรีลังกาได้เสร็จสิ้นการหารือเบื้องต้นกับ IMF และได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance), ความยั่งยืนของหนี้ (Debt Sustainability), ภาคธนาคาร และสวัสดิการสังคม โดยเราตั้งใจจะทำข้อตกลงในระดับเจ้าหน้าที่ร่วมกับ IMF ภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้"
นอกจากนี้ ศรีลังกายังวางแผนที่จะจัดการประชุมเพื่อขอความช่วยเหลือด้านสินเชื่อร่วมกับชาติพันธมิตร ซึ่งรวมถึงอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ธนาคารฮามิลตัน รีเสิร์ฟ แบงก์ (Hamilton Reserve Bank) ซึ่งถือพันธบัตรรัฐบาลศรีลังกามูลค่ากว่า 250 ล้านดอลลาร์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐนิวยอร์ก เพื่อให้ศรีลังกาชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนพร้อมอัตราดอกเบี้ย โดยพันธบัตรดังกล่าวกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.875% และจะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 25 ก.ค.นี้
ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรในเดือนพ.ค. หลังจากระยะเวลาผ่อนผันชำระหนี้ (grace period) ระยะ 30 วันของพันธบัตรจำนวน 2 ชุดได้สิ้นสุดลง และถือเป็นครั้งแรกที่ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 2491