องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ราคาอาหารโลกลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ FAO ระบุว่า ดัชนีรวมของราคาอาหารในเดือนมิ.ย. ลดลง 2.3% เมื่อเทียบรายเดือน แตะที่ 154.2 จุด ต่ำกว่าระดับสูงสุดเมื่อเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 159.7 จุดเล็กน้อย หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนในปลายเดือนก.พ.
ราคาอาหารที่ลดลงนั้นได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันพืช ธัญพืช และน้ำตาลในตลาดโลกที่ลดลง แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.1%
นักวิเคราะห์ของธนาคารโนมูระกล่วว่า ราคาอาหารที่ในเอเชียยังไม่แตะระดับสูงสุด แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
โซนาล วาร์มา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ ประจำภูมิภาคอินเดียและเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ราคาอาหารในเอเชียมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นช้ากว่าราคาอาหารทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลต่าง ๆ ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือและควบคุมราคาเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นชั่วคราว
โนมูระยังระบุว่า ราคาอาหารของประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์ และอินเดีย มีแนวโน้มแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
นอกจากนี้ ในรายงานเดือนมิ.ย. วาร์มาและทีมยังกล่าวว่า มูลค่าการนำเข้าอาหารในฟิลิปปินส์มีสัดส่วนกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงเป็นอันดับสองของภูมิภาค (ไม่รวมญี่ปุ่น) รองจากฮ่องกง นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่เกิดจากราคาอาหารในฟิลิปปินส์ยังมีสัดส่วนเกือบ 35% ของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ขณะที่เกาหลีใต้และสิงคโปร์ยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารสูงมาก