สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้รายงานในวันนี้ว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนมิ.ย.ปรับตัวขึ้น 841,000 ตำแหน่ง แตะระดับ 28.49 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 16 เดือน
อย่างไรก็ดี ตัวเลขจ้างงานเดือนมิ.ย.ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าในเดือนพ.ค.ที่มีการขยายตัว 935,000 ตำแหน่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งรวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ส่วนอัตราว่างงานในเดือนมิ.ย.ขยับลง 0.8% แตะที่ระดับ 3% และจำนวนประชาชนที่ไม่มีงานทำในเดือนมิ.ย.ลดลง 205,000 ราย สู่ระดับ 888,000 ราย
เมื่อแยกตามภาคส่วนธุรกิจพบว่า การจ้างงานในธุรกิจที่บริการด้านที่พักอาศัยและภัตตาคาร ปรับตัวขึ้น 28,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเม.ย. ขณะที่การจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิต เพิ่มขึ้น 158,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 8
ทางด้านธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 2.25% ในการประชุมวันนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี และนับเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันที่ดัชนี CPI อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้กำหนดไว้ที่ 2% เนื่องจากต้นทุนพลังงานและอาหารปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งอุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่ผ่านมานั้น ธนาคารกลางเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อเป็นลำดับต้น ๆ แม้มีความกังวลว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ