กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า จีนจำเป็นต้องเพิ่มการใช้นโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอลงเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ และควรใช้กลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อแก้ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
"เราพึงพอใจที่จีนหันไปใช้นโยบายด้านการคลังมากขึ้นในปีนี้ แต่หากรัฐบาลใช้นโยบายดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก ก็จะช่วยให้จีนสามารถรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ ในมุมมองของเรานั้น นโยบายการคลังจะมีประสิทธิภาพหากมุ่งเน้นในการสนับสนุนภาคครัวเรือน ผ่านระบบการป้องกันทางสังคมที่มีความแข็งแกร่งและโปร่งใส" นายเจอร์รี ไรซ์ โฆษก IMF กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อถูกถามความเห็นเกี่ยวกับนโยบายของจีน
นายไรซ์ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของจีนซึ่งอยู่ในระดับต่ำ ก็เชื่อว่าธนาคารกลางจีนจะยังสามารถใช้นโยบายการเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจได้ ส่วนการที่จีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต้นปีนี้ ถือเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม ซึ่งทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลง และกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลง 0.10% สู่ระดับ 2.85% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2564
ทั้งนี้ หลายเมืองของจีนได้กลับมาใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสัปดาห์นี้ ขณะที่นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของจีนประกาศใช้มาตรการตรวจเชื้อโควิด-19 ครั้งใหญ่
นายไรซ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นในการปรับนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หลังจากการใช้นโยบายดังกล่าวอย่างเข้มงวดได้ส่งผลให้จีนต้องล็อกดาวน์เมืองสำคัญและทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
"การลดภาวะชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโควิด-19 นั้น จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ให้กับประชาชน และมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ การดำเนินการเช่นนี้จะช่วยปรับกลยุทธ์การควบคุมโควิด-19 ของจีนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และลดการใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมโรค" นายไรซ์กล่าว