ธนาคารโลกเปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของเมียนมายังคงอ่อนแอเนื่องจากหลากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง, ปัญหาขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้กำลังทำให้ความพยายามที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเมียนมาต้องเผชิญกับความท้าทาย
ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน "Myanmar Economic Monitor" ในวันนี้ โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2565 ของเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับของปี 2562 ประมาณ 13% แม้ว่า GDP ในปีงบประมาณ 2564 จะขยายตัว 3% ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ก็ตาม
"ดุลการชำระเงินของเมียนมาถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลอย่างมาก เนื่องจากปัญหาขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์ได้จำกัดการนำเข้าสินค้าจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิง นอกจากนี้ เงินเฟ้อในเมียนมาอยู่ในระดับที่สูงมาก และความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในประเทศก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมด้านการผลิตต่อไปอีกนาน ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราคาดการณ์ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมียนมายังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด" ธนาคารโลกระบุ
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางเมียนมามีคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อยระงับการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หลังการยึดอำนาจ รัฐบาลทหารเมียนมาได้คุมเข้มกฎระเบียบในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากค่าเงินจ๊าตอ่อนค่าลงไปถึง 1 ใน 3 เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปีที่แล้ว อันเป็นผลจากการที่เงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนสำรองของเมียนมาซึ่งเก็บไว้ที่สหรัฐได้ถูกระงับการเบิกถอน นอกจากนี้ ยังถูกระงับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสองแหล่งหลักที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่เมียนมา