แบงก์จีนเสี่ยงเสียหายจากการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้จำนองสูงถึง 3.50 แสนล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2022 10:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงเตือนว่า ธนาคารพาณิชย์ของจีนกำลังเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้จำนองมูลค่าสูงถึง 3.50 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่ความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนถดถอยลงอย่างหนัก แม้ทางการจีนพยายามที่จะควบคุมวิกฤตการณ์ดังกล่าวไม่ให้รุนแรงมากขึ้นก็ตาม

นายเฉิน จื้ออู่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า การที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีนจำนวนมากระงับโครงการก่อสร้างนั้น ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ซื้อบ้าน และส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ผู้กู้ไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้จำนองในเมืองต่าง ๆ กว่า 90 แห่ง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจจีนเป็นวงกว้าง

"ธนาคารพาณิชย์ของจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่น่ากังวล หากรัฐบาลไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้ก็จะได้รับความเสียหาย" นายเฉินกล่าว

ทางด้านเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งกล่าวว่า ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้น ธนาคารในจีนอาจได้รับความเสียหายเป็นวงเงินสูงกว่า 2.4 ล้านล้านหยวน (3.56 แสนล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็น 6.4% ของยอดปล่อยกู้จำนอง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเพียง 3.3% ในปี 2565 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.4% และยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปี 2566 ลงสู่ระดับ 4.5% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 5.1% ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากการที่จีนใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่ารัฐบาลจีนเตรียมจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านหยวน (4.439 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยพยุงธุรกิจของบริษัทอสังหาริมทรัพย์นับสิบแห่ง โดยหนึ่งในนั้นคือ บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป

อ้างเว็บไซต์ REDD ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงินระบุว่า หน่วยงานกำหนดนโยบายของจีนจะคัดเลือกบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์รับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าว โดยเงินในกองทุนจะนำไปใช้เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกโดยผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือสนับสนุนผู้ซื้อในภาครัฐที่ต้องการเข้าซื้อโครงการอสังหาฯ ของบริษัทที่เข้าเกณฑ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ