ญี่ปุ่นวางแผนยกระดับการตรวจตราด้านการควบคุมความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ หลังต่างประเทศมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะขาดทุนแฝงในการถือครองพันธบัตรต่างประเทศ โดยสะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐที่มีต่อระบบการเงินของญี่ปุ่น
ในแนวทางนโยบายประจำปีที่เปิดเผยในวันนี้ (31 ส.ค.) สำนักงานบริการการเงินญี่ปุ่น (FSA) ระบุว่า "จะหารือกับธนาคารต่าง ๆ เกี่ยวกับการควบคุมความเสี่ยงในตลาด" เพราะการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกทำให้เกิดการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealised loss) จากการถือครองพันธบัตรต่างประเทศ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธนาคารรายใหญ่ ๆ ของญี่ปุ่นทุ่มเม็ดลงทุนมหาศาลในพันธบัตรต่างประเทศ เพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ แต่เมื่อผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นจากผลพวงของการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ มูลค่าของพันธบัตรจึงปรับตัวลดลง
มูลค่าการขาดทุนรวมจากการถือครองพันธบัตรต่างประเทศของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป และกลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่อีก 2 ราย อยู่ที่ 2.656 ล้านล้านเยน (1.912 หมื่นล้านดอลลาร์) ณ สิ้นเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากสิ้นเดือนมี.ค. ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายพิเศษต่อไป โดยไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เนื่องจากเงินเฟ้อญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับปานกลางและเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีความเปราะบาง