ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (1 ก.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงช้อนซื้อในช่วงท้ายตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
-- สกุลเงินเยนร่วงต่ำสุดในรอบ 24 ปีเทียบดอลลาร์เมื่อคืนนี้ ทะลุระดับ 140 เยน ขณะที่นักลงทุนพากันเทขายเยนและเข้าซื้อดอลลาร์ ท่ามกลางนโยบายการเงินที่สวนทางกันของสหรัฐและญี่ปุ่น
ณ เวลา 23.40 น.ตามเวลาไทย เยนอ่อนค่า 0.77% สู่ระดับ 140.03 เทียบดอลลาร์
ทั้งนี้ ดอลลาร์ได้ปัจจัยหนุนจากมุมมองที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สวนทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษ ซึ่งจะทำให้ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นกว้างขึ้น
-- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พุ่งขึ้นเหนือระดับ 3.5% เมื่อคืนนี้ แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 00.01 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.522% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2550 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.263% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.377%
-- นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของสหรัฐและจีนกำลังใช้ความพยายามอย่างหนักในการเตรียมจัดการประชุมแบบพบหน้ากันระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในระหว่างการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนพฤศจิกายน แม้ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความตึงเครียดเกี่ยวกับประเด็นไต้หวัน
หากการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นการพบปะกันเป็นครั้งแรกระหว่างปธน.ไบเดนและปธน.สีนับตั้งแต่ที่ผู้นำสหรัฐขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือนม.ค.2564
ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนและปธน.สีจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 15-16 พฤศจิกายน ก่อนที่จะเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในวันที่ 18 พฤศจิกายน
-- สถาบันวิจัย CFRA ออกรายงานระบุว่า สถิติบ่งชี้ว่า เดือนกันยายนเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของปี
ทั้งนี้ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ดัชนี S&P 500 ร่วงลงเฉลี่ย 0.56% ในเดือนกันยายน และปรับตัวลง 56% สำหรับตลอดการซื้อขายในเดือนดังกล่าว
นอกจากนี้ CFRA ชี้ว่า ปีนี้ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐ จะทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยิ่งมีแนวโน้มดิ่งลงในเดือนกันยายน เนื่องจากนักลงทุนมักทำการเทขายหุ้นอย่างหนักในเดือนกันยายนและตุลาคมในปีเลือกตั้ง ก่อนที่จะกลับเข้าซื้อหุ้นในไตรมาส 4
-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมทั่วโลกมีจำนวน 608,366,134 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ระดับ 6,496,973 ราย
-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 232,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 245,000 ราย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่สูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 52.8 ในเดือนส.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก.ค. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.0
ดัชนีภาคการผลิตได้รับปัจจัยหนุนจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน
ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 51.5 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนก.ค.2563 จากระดับ 52.2 ในเดือนก.ค. แต่สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 51.3
ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และการชะลอตัวของการจ้างงาน แม้ว่าความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจดีดตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 0.4% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากลดลง 0.5% ในเดือนมิ.ย.
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 8.5% ในเดือนก.ค.
-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญวันนี้ สหรัฐจะมีการรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค. เวลา 19.30 น. ตามเวลาไทย โดยนักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยหากตัวเลขจ้างงานออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ ก็จะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้น
นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเพียง 300,000 ตำแหน่ง หลังจากที่พุ่งขึ้น 528,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์จากเวลส์ ฟาร์โกคาดว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 375,000 ตำแหน่ง และนักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์คาดว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 350,000 ตำแหน่ง