เศรษฐกิจของศรีลังกามีแนวโน้มหดตัวลงมากสุดในรอบ 2 ปี ท่ามกลางวิกฤติหนี้ที่นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ และการประท้วงที่ลุกลามเป็นวงกว้างซึ่งทำให้ประเทศหยุดชะงักจนนำไปสู่การขับไล่ประธานาธิบดี
สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์เมื่อวันพุธ (14 ก.ย.) บ่งชี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของศรีลังกามีแนวโน้มร่วงลง 10% ในช่วง 3 เดือนนับถึงเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการชะลอตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 และร่วงลงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับการหดตัว 1.6% ในไตรมาสแรกของปีนี้
อนึ่ง สำนักงานสถิติของศรีลังกามีกำหนดเปิดเผยข้อมูล GDP ในวันนี้ (15 ก.ย.) ในเวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (16.30 น. ตามเวลาไทย)
ทั้งนี้ เศรษฐกิจมูลค่า 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์ของศรีลังกาล่มสลายลง หลังปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนเพราะวิกฤตการเงิน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 64.3% ในเดือนส.ค. และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าแตะ 15.5% จากระดับ 6% ในช่วงสิ้นปี 2564
การล่มสลายทางเศรษฐกิจเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ศรีลังกานับตั้งแต่ได้รับเอกราช ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองจนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห ซึ่งกำลังพยายามที่จะผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจและรัฐธรรมนูญเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ของประเทศ