นายฟาตีห์ ไบรอล ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยในวันนี้ (25 ต.ค.) ว่า ตลาดก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ตึงตัวและการที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ปรับลดกำลังการผลิตลงนั้น ได้ส่งผลให้โลกอยู่ท่ามกลางวิกฤตพลังงานอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายไบรอลกล่าวในระหว่างการประชุมสัปดาห์พลังงานสากลของสิงคโปร์ (Singapore International Energy Week) ว่า การที่ยุโรปนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์สงครามในยูเครน และความต้องการใช้เชื้อเพลิงในจีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น จะส่งผลให้ตลาดเผชิญภาวะตึงตัว โดยจะมีก๊าซ LNG ลอตใหม่เข้าสู่ตลาดเพียง 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรในปีหน้า
ในขณะเดียวกัน นายไบรอลกล่าวว่า การที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัส ได้ตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 2 ล้านบาร์เรลต่อวันนั้น ถือเป็นการตัดสินใจที่มีความเสี่ยง โดย IEA คาดว่าการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะอยู่ที่ระดับราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้
"เรื่องนี้ถือเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะถดถอย และหากเรากำลังพูดถึงภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ผมคิดว่าการตัดสินใจของโอเปกพลัสในครั้งนี้ถือเป็นความโชคร้ายจริง ๆ" นายไบรอลกล่าว
อย่างไรก็ดี นายไบรอลกล่าวว่า วิกฤตการณ์พลังงานในปัจจุบันจะทำให้ประวัติศาสตร์พลังงานโลกมาถึงจุดเปลี่ยน เพราะจะทำให้การหาแหล่งพลังงานสะอาด และการสร้างระบบพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
"ความมั่นคงด้านพลังงานเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ในขณะที่หลายประเทศมองว่าเทคโนโลยีด้านพลังงานและพลังงานทดแทนถือเป็นแนวทางที่จะสามารถแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน" นายไบรอลกล่าว