กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียในวันนี้ (28 ต.ค.) โดยระบุว่า การที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน, อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากสงครามในยูเครน และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย
ทั้งนี้ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียในปี 2565 และ 2566 ลงสู่ระดับ 4.0% และ 4.3% ตามลำดับ จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.9% และ 5.1% ตามลำดับ โดยการปรับลดคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเศรษฐกิจเอเชียมีการขยายตัว 6.5% ในปี 2564
IMF เปิดเผยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Economic Outlook Report) ว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในเอเชียยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ แต่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสร้างความมั่นใจว่าตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อจะไม่สูงไปกว่าปัจจุบัน
"เศรษฐกิจเอเชียที่เคยดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงต้นปี ขณะนี้กำลังอ่อนแอลง เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด เรามองว่าธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจว่า เงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย และการคาดการณ์เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้" นายกฤษณะ ศรีนิวาสาน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิกของ IMF กล่าว
นายศรีนิวาสานกล่าวว่า แม้ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มบรรเทาลง แต่เศรษฐกิจเอเชียจะเผชิญกับอุปสรรคใหม่จากการที่ทั่วโลกใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน และอุปสงค์ในต่างประเทศที่คาดว่าจะอ่อนแอลง นอกจากนี้ คาดว่าเอเชียจะเผชิญอุปสรรคจากการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง อันเนื่องมาจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 และการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีน
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3.2% ในปี 2565 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.4% หลังจากมีการขยายตัว 8.1% ในปี 2564 นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.4% ในปี 2566 และขยายตัว 4.5% ในปี 2567