World Today: ประเด็นข่าวต่างประเทศน่าติดตามวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 4, 2022 08:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ในวันพฤหัสบดี (3 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยาวนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

-- ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.0% ในการประชุมเมื่อคืนนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้

การปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดของ BoE ในรอบ 33 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2532 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 8 นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564 หลังจากเงินเฟ้อพุ่งทะลุ 10% ในเดือนก.ย. แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

-- ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) แถลงว่า เศรษฐกิจอังกฤษได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 3 ของปีนี้ และภาวะถดถอยดังกล่าวจะดำเนินต่อไปในปี 2566 จนถึงกลางปี 2567

BoE ระบุว่า ภาวะถดถอยในครั้งนี้จะยาวนานกว่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินในปี 2551-52 และจะส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษหดตัว 2.9%

นอกจากนี้ BoE คาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 11% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีในไตรมาส 4 และอัตราว่างงานจะดีดตัวสู่ระดับ 6.4% ในปลายปี 2568 จากระดับ 3.5% ในขณะนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970

-- สื่อรายงานว่า นายอิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ได้รับบาดเจ็บหลังถูกคนร้ายลอบยิง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างที่มีการจัดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลเมื่อวานนี้

ด้านนายอาซาด อูมาร์ คนสนิทของนายอิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน กล่าวว่า นายข่านได้เปิดเผยกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังแผนลอบสังหารเขาในวันนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนายมูฮัมหมัด เชห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน

ก่อนหน้านี้ นายชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน กล่าวประณามการลอบสังหารนายข่าน พร้อมกับสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยทำการสอบสวนในเรื่องดังกล่าว

-- แอปเปิลได้ระงับแผนจ้างงานในตำแหน่งที่ไม่ใช่บุคลากรฝ่ายวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นไปตามแผนปรับลดงบประมาณ และสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ ที่ชะลอการจ้างงานและเลิกจ้างพนักงานหลังผู้บริโภคมีการใช้จ่ายซบเซาในขณะที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 217,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 220,000 ราย

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่สูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 54.4 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 จากระดับ 56.7 ในเดือนก.ย.

นอกจากนี้ ดัชนีภาคบริการปรับตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.5

ดัชนีภาคบริการของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ

ขณะเดียวกัน เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือนต.ค. จากระดับ 49.3 ในเดือนก.ย. และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 46.6

ดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะหดตัว โดยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการจ้างงาน และการดิ่งลงของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี

ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค.

เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานทะยานขึ้น 13.0% ในเดือนก.ย.

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบิน ลดลง 0.4% ในเดือนก.ย. โดยยอดสั่งซื้อดังกล่าวถือเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่น และแผนการใช้จ่ายในภาคธุรกิจ

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญวันนี้ สหรัฐจะมีการรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค. เวลา 19.30 น. ตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 205,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ