กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มซบเซามากกว่าที่ IMF คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อพิจารณาจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
IMF ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกนั้น มาจากการที่ธนาคารทั่วโลกใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน และเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเป็นวงกว้าง รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน, ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และความไม่มั่นคงด้านอาหาร อันมีสาเหตุมาจากการที่รัสเซียส่งทหารเข้าทำสงครามในยูเครน
เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา IMF ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ลงสู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9%
IMF เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวบนเว็บบล็อกก่อนการประชุม G20 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย โดย IMF ระบุว่า ดัชนี PMI ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่ม G20 ชะลอตัวลง และบางประเทศดัชนีอยู่ในภาวะหดตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างมาก
"ดัชนี PMI ของกลุ่มประเทศ G20 ปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่ และบางประเทศอยู่ในภาวะหดตัว หลังจากที่มีขยายตัวเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมากทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้" IMF ระบุ
นอกจากนี้ รายงานของ IMF ยังระบุว่า วิกฤตพลังงานที่เลวร้ายลงในยุโรปจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อที่สูงเป็นเวลานานอาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้