บรรดาผู้นำในแถบแปซิฟิกเตรียมจัดการประชุมเป็นเวลา 2 วันตั้งแต่วันศุกร์นี้ (18 พ.ย.) ที่กรุงเทพฯ โดยจะเน้นไปที่แนวทางการจัดการกับราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น ตลอดจนภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากสงครามของรัสเซียในยูเครน
ในระหว่างการประชุมสุดยอดของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) 21 ประเทศ บรรดาผู้นำมีแนวโน้มที่จะเห็นพ้องกันในการส่งเสริมการค้า, การลงทุน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปคที่กรุงเทพแทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียจะไม่เข้าร่วมการประชุม เช่นเดียวกับที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันวานนี้ (16 พ.ย.) ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารอาวุโสของสหรัฐระบุว่า นางแฮร์ริสจะเน้นย้ำถึงความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของสหรัฐในภูมิภาคนี้ และจะเรียกร้องให้สมาชิกเอเปครายอื่น ๆ สนับสนุนวิสัยทัศน์ของสหรัฐในด้านกฎระเบียบทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายการทูตของจีนผ่านการบีบบังคับทางเศรษฐกิจและการวางกับดักหนี้
รายงานระบุว่า การประชุมเอเปคจะเป็นการประชุมสุดยอดชุดสุดท้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่มีการประชุมสุดยอดอาเซียนในกรุงพนมเปญ และการประชุมสุดยอด G20 ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย รวมถึงการเจรจาทวิภาคีและไตรภาคี
ทั้งนี้ กลุ่มเอเปคมีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของการค้าโลกและคิดเป็น 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลก โดยเอเปคประกอบด้วย ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, จีน, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี, เปรู, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ไทย, สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม