แหล่งข่าวเปิดเผยว่า หน่วยงานกำกับดูแลด้านกฎระเบียบของจีนได้กำชับให้บรรดาธนาคารพาณิชย์รายงานเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นหลังการเทขายพันธบัตรอย่างรวดเร็วทำให้นักลงทุนจำนวนมากพร้อมใจกันไถ่ถอนการลงทุนในตราสารหนี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า คำสั่งของหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบจีนนี้มีขึ้นในช่วงที่ราคาพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของจีนปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2563 โดยเกิดจากการที่นักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น หุ้น จนนำไปสู่การแห่ถอนเงินจากผลิตภัณฑ์การบริหารความมั่งคั่งของนักลงทุนรายย่อย ซึ่งทำให้ราคาปรับตัวลงและเร่งความเร็วในการไถ่ถอนการลงทุน นอกจากนี้ หุ้นกู้ชั้นนำก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้ผลตอบแทนตราสารหนี้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์นี้
ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณชนเพื่อคลายความกังวลของนักลงทุนว่า สามารถควบคุมความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นได้ ในขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้อัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบการเงินเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวผ่านการดำเนินการในตลาดการเงิน (OMO) ในวันพุธ (16 พ.ย.) โดยแหล่งข่าวระบุว่า สถานการณ์ด้านสภาพคล่องนั้นมีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพเป็นเวลาหลายวัน
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันในวงกว้างว่า บรรดาธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของจีนจะเข้าถึงเงินทุนได้อย่างเพียงพอ แต่ราคาตราสารหนี้ที่ผันผวนอย่างหนักและการแห่ถอนการลงทุนได้เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์เผชิญปัญหาขาดแคลนเงินทุนระยะสั้น ผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ที่เสนอราคาและสภาพคล่องรายวันนั้นถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในจีน โดยเดิมทีแล้วนักลงทุนจะต้องกำหนดคำสั่งซื้อขายในระยะเวลานานกว่านี้ และรับประกันผลตอบแทน แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อจีนออกมาตรการปฏิรูปต่าง ๆ เพื่อลดภาวะภัยทางศีลธรรมในระบบการเงิน
"การทรุดตัวลงในตลาดตราสารหนี้ช่วงนี้ทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์การบริหารความมั่งคั่งบางประเภทลดลง" แผนกบริการความมั่งคั่งของแบงก์ ออฟ ไชน่า จำกัดแถลงเมื่อวานนี้ พร้อมระบุเสริมว่า "การผ่อนคลายทางการเงินของ PBOC นั้นเป็นไปตามคาดการณ์ ซึ่งทำให้ภาวะสภาพคล่องตึงตัวและส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่การปรับเปลี่ยนนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์และโควิด-19 เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น เป็นอีกปัจจัยที่หนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน"