นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเมื่อวันพุธ (16 พ.ย.) ว่า สงครามในยูเครนเป็น "ปัจจัยลบที่สำคัญที่สุดเพียงปัจจัยเดียว" สำหรับเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นเช่นนั้นในปี 2566 ด้วยเช่นกัน
นางจอร์เจียวากล่าวกับนายมาร์ติน ซูง ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีนอกรอบการประชุมสุดยอด G20 ที่บาหลีว่า "เรามองว่าสงครามในยูเครนเป็นปัจจัยลบที่สำคัญที่สุดเพียงปัจจัยเดียวสำหรับเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และเป็นไปได้มากที่สุดที่จะส่งผลถึงปีหน้าด้วย อะไรก็ตามที่สร้างความกังวลมากขึ้นย่อมสร้างความเสียหายให้กับโอกาสในการขยายตัวและการประชุมที่จำเป็น รวมถึงแรงบันดาลใจของผู้คนทั่วโลกอย่างแน่นอน"
ถ้อยแถลงดังกล่าวของนางจอร์เจียนาเป็นการแสดงความเห็นต่อเหตุขีปนาวุธตกในดินแดนของโปแลนด์เมื่อคืนวันอังคาร (15 พ.ย.) และทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 2 ราย
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ชาติสมาชิก G20 ส่วนใหญ่ประณามท่าทีก้าวร้าวที่รัสเซียมีต่อยูเครนในร่างแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร
นางจอร์เจียวากล่าวว่า "ดิฉันต้องการแสดงความชื่นชมอินโดนีเซียที่ทำหน้าที่เจ้าภาพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้"
อย่างไรก็ตาม นางจอร์เจียวาเน้นย้ำว่า การประชุมสุดยอด G20 ไม่ใช่เพียงว่ามีการแถลงการณ์ร่วม แต่เป็นการใส่ใจกับ "ปัญหาที่เร่งด่วนมาก" เช่น เงินเฟ้อทั่วโลก ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน
"ดิฉันฟังแถลงการณ์ทั้งหมดอย่างตั้งใจ และรู้สึกยินดีที่ปัญหาเหล่านี้คือปัญหาที่เรากำลังให้ความสนใจอย่างที่เราต้องทำ" นางจอร์เจียวากล่าว
ก่อนหน้านี้ IMF ได้ออกประกาศเตือนการแตกกลุ่ม (fragmentation) ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2566 ลงเหลือ 2.7% จากเดิม 3.2%
รายงานเดือนต.ค.ระบุว่า "นี่เป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 เว้นแต่ครั้งที่เกิดวิกฤตการเงินโลก และการแพร่ระบาดอย่างฉับพลันของโรคโควิด-19"
นางจอร์เจียวากล่าวว่า "เรากำลังเห็นสัญญาณบางอย่างของการแตกกลุ่มแล้ว และเรื่องดังกล่าวเกิดจากความกังวลที่ชัดเจนนั่นคือความมั่นคงทางด้านอุปทาน เราได้เห็นภาวะห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักเพราะโรคโควิด-19 และเพราะสงครามในยูเครน รวมทั้งได้สร้างความเสียหายต่อการขยายตัวทั้งในประเทศและระดับโลก"